“วันคุ้มครองผู้บริโภค” สิทธิที่ผู้บริโภคพึ่งรู้

       หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยก็มี “วันคุ้มครองผู้บริโภค” เหมือนกัน เนื่องจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบันได้ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ไม่รู้เท่าทัน ตกเป็นเหยื่อ ถูกเอาเปรียบได้รับความเดือนร้อน ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหรือโปรโมชั่น ด้วยเหตุนี้ในปี 2522 สมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็น ของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธานกรรมการการปฏิบัติงาน และจัดองค์การของรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาได้มีการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วย “การคุ้มครองผู้บริโภค” นำร่างขึ้นบังคมทูล และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 30 เมษายน 2522  และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา และนับตั้งแต่นั้น ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย”

       สิทธิที่ได้รับจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูก ต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่ จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพีย งพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

       ต่อมาการสื่อสารได้มีความเจริญก้าวหน้าและเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการจำนวนมาก จึงได้มีการจัดตั้ง กสทช. ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และจากการที่ กสทช. ได้ทำงานด้านสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ก็ได้กำหนดหลักสิทธิการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ มี 7 ข้อ ดังนี้

  1. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจ โดยข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
  2. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
  3. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
  4. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
  5. สิทธิในความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อ
  6. สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการบริหารจัดการสื่อ
  7. สิทธิในการได้รับการเยียวยาความเสียหายเมื่อได้รับความเสียหาย

       หากผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ พบเห็นรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง เกินจริง อวดอ้างสรรพคุณ เอาเปรียบหรือค้ากำไรเกินควร สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงาน กสทช. สายด่วนโทรฟรี 1200 สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) 02-271-7600 ต่อ 5744, 5732 หรือทางเว็บไซต์ http://bcp.nbtc.go.th และเฟสบุ๊ค www.facebook.com/con.rights