30. ทำไมต้องมีเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์

 

สื่อวิทยุ-โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงที่สามารถส่งผลกระทบด้านพฤติกรรม ความคิด การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งทางบวกและทางลบ สื่อสามารถสร้าง “ฮีโร่” หรือทำลายชีวิตของคนบางคนชั่วข้ามคืน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมและการเมือง หากสื่อไม่เสนอความจริงและหากผู้บริโภคสื่อไม่มีพลังพอที่จะกดดันให้สื่อของตนเองทั้งระดับชุมชนและภูมิภาคให้มีความเป็นสื่อมืออาชีพที่เสนอเนื้อหาด้วยความเป็นจริง มีคุณภาพ ปราศจากอคติและไม่หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พลังผู้บริโภคสื่อสามารถควบคุมกำกับดูแลสื่อของตนเองให้มีคุณภาพได้ และผลักดันนักการเมืองให้สร้างกลไกกำกับดูแลสื่ออย่างได้ผล การลงโทษทางสังคมต่อผู้ประกอบการสื่อบางครั้งรุนแรงและศักดิ์สิทธิ์กว่าการลงโทษทางกฎหมาย

ดังนั้น การรวมตัวกันของผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกำกับดูแลสื่อที่มีพลังมหาศาล การสร้างเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จึงเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม มีการติดต่อสื่อสารและการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกเอาเปรียบจากการประกอบการ และสามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นด้านการเฝ้าระวังปัญหา การสร้างศักยภาพการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชน รวมทั้งการเสนอแนวนโยบายและกลไกการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมที่จะเชื่อมต่อไปยัง กสทช. และผู้ประกอบการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตทุกประเภท