"เสรี เท่าเทียม เท่าทัน" การสื่อสารของคนพิการในยุคดิจิตตอล

       คุณรู้หรือไม่ ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤศจิกายน ในทุกปีเป็น “วันคนพิการแห่งชาติ” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ จุดประสงค์ของวันคนพิการคือให้ ผู้พิการได้พบปะสังสรรค์ และได้แลกเปลี่ยนทัศนะคติในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินชีวิต สภาพจิตใจ และ อารมณ์ต่อสภาวะรอบด้าน หรือแม้กระทั่งแลกเปลี่ยนในเรื่อง ข่าวสารข้อมูล ละครยอดฮิต หรือ กิจกรรมต่างๆที่กำลังอินเทรนด์

คนพิการ มีหลายประเภท ได้แก่

  1. พิการทางด้านการสื่อสารหรือการได้ยิน (Hearing and Deaf Disability) คือ บุคคลที่มีข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจการทางสังคมเนื่องการมีความบกพร่องในการรับรู้ผ่านทางการได้ยิน (หูหนวก) ในระดับคลื่นความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑๐๐๐ เ เฮิรตซ์ และ ๒๐๐๐ เฮิรตซ์ ถ้าต่ำกว่านั้นทางการแพทย์จะเรียกว่า “หูตึง” ส่วนความพิการทางด้านการสื่อสาร คือ ผู้ที่มีความบกพร่องในการสื่อความหมาย ผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจได้ เช่น ไม่สามารถพูดหรือออกเสียงได้
  2. พิการทางด้านสติปัญญา (Cognitive or Learning Disability) คือ บุคคลที่มีความสามารถในการพัฒนาด้านเชาว์ปัญญาช้ากว่าบุคคลทั่วไป โดยมากจะแสดงออกในช่วงอายุไม่เกิน ๑๘ปี
  3. พิการทางด้านบุคลิกภาพและ การเคลื่อนไหว (Mobility and Physical impairments) คือ บุคคลที่มีข้อจัดในการร่วมกิจกรรมทางสังคม มีผลมาจากความผิดปกติหรือบกพร่อง ทางร่างกายเช่น ศีรษะ ลำตัว ใบหน้า แขนขาอ่อนแรง หรือ มีอวัยวะขาดหายไปเห็นได้อย่างชัดเจน
  4. พิการซ้ำซ้อน (Multiple Disabilities) คือ บุคคลที่มีความพิการและความบกพร่องทางร่างกาย หรือเชาว์ปัญญา มากกว่าหนึ่งประเภท แบ่งได้หลายลักษณะ เช่น มีความผิดปกติด้านเชาว์ปัญญา และไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตัวเอง เป็นต้น
  5. พิการทางด้านสายตาและการมองเห็น (Vision Disability) บุคคลที่มีข้อจำกัดหรือ บกพร่องในด้านการมองเห็นในชีวิตประจำวัน แบ่งความผิดปกติได้จากการตรวจวัดสายตา โดยจะพบความผิดปกติหลายระดับ ตั้งแต่มองเห็นได้รางๆ จนกระทั่งบอดสนิท
  6. พิการทางด้านพฤติกรรม หรือสภาพจิตใจ (Psychological Disorders) คือบุคคลทีมีลักษณะบกพร่องหรือมีความผิดปกติในสมอง ซึ่งส่งผลต่อ การรับรู้ อารมณ์ ความคิด หรือ จิตใจ เป็นต้น

       เมื่อความพิการมีหลากหลาย และผู้พิการแต่ละประเภทก็ล้วนแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารแตกต่างกันไป เมื่อสังคมไทยก้าวสู่ “ยุคดิจิตอล” จึงมีคำถามยอดฮิต ว่า “ทำอย่างไร ผู้พิการจึงจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป”

       ผู้พิการทางด้านสายตา และการมองเห็น ส่วนใหญ่จะรับรู้ข่าวสารได้ทางเสียง แต่จะมีความสามารถจำกัดในการโต้ตอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ มักรับข่าวสารผ่านทาง หนังสือเสียง ฟังเสียงจากวิทยุและโทรทัศน์ จึงมีความหวังว่าจะมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้คนพิการด้านสายตาสามารถตอบโต้ได้ เช่นขณะนี้ บางประเทศใช้ ซอฟแวร์ “Screen Reader” ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านและสั่งพิมพ์ข้อความโดยใช้เสียง แทนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านภาษา เพราะใช้ได้แต่เพียงภาษาอังกฤษเท่านั้นผู้พิการที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร เช่น หูหนวก จะมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้ประโยชน์จากสื่อโทรทัศน์ เช่น มีบริการล่ามภาษามือ

       สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงน กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และอีกบทบาทหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ก็มีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งผู้บริโภคสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็หมายรวมถึงคนพิการด้วย โดย สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีการจัดทำโครงการ “การส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ” โดยลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ” ระหว่าง สำนักงาน กสทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการจัดบริการสำหรับคนพิการ ในสื่อโทรทัศน์ ได้แก่

  • ภาษามือ (Sign Language)
  • คำบรรยายเป็นอักษร (Caption) สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เช่น คำบรรยายบรรยากาศในฉาก เช่น เสียงนกร้อง เสียงคลื่นซัดชายฝั่ง
  • คำบรรยายเป็นเสียง (Audio Description) สำหรับผู้พิการทางสายตา เช่น บรรยายบรรยากาศในฉากช่วงที่ไม่มีบทสนทนา เช่น นางเอกกำลังเดินขึ้นบันไดอย่างช้าๆ เป็นต้น โดยมีสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการผลิตบริการที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ

       ซึ่งเทคโนโลยีของ “ทีวีดิจิตอล” จะช่วยให้ผลิตบริการเหล่านี้ได้ ทีวีดิจิตอล จึงเป็นสื่อที่ดูดีทุกบ้าน และดูดี “ทุกคน” อย่างแท้จริง  และเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ จัดให้มีบริการเหล่านี้สำหรับคนพิการ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ พ.ศ... และมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศฯ แล้ว ๒ ครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

       เมื่อเทคโนโลยี ก้าวไกล คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น และสมารถสร้างพื้นที่ในการสื่อสารให้แก่คนพิการมากขึ้นได้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ “การรู้เท่าทันสื่อ” เนื่องจากทักษะนี้ จะช่วยให้เลือกเปิดรับสื่อที่มีคุณภาพ วิเคราะห์ วิจารณ์ได้อย่างเหมาะสม และอาจก้าวล้ำไปถึงความสามารถการผลิตสื่อเพื่อคนพิการด้วย

       และเมื่อเร็วๆนี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเวทีการสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิทางการสื่อสารของคนพิการด้านการได้ยิน และร่วมกับสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย จัดเวทีการสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิทางการสื่อสารของคนพิการด้านสติปัญญา ออทิซึม และผู้บกพร่องทางจิต เพื่อเพื่อส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารผ่านกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียมและรู้เท่าทัน

       สิทธิในการสื่อสาร อย่างเสรี เท่าเทียม และ เท่าทัน ของคนพิการในยุคดิจิตอล จะเป็นจริงในเร็ววัน