ปฐมบท ว่าด้วยเรื่อง "เรท (Rate)"

       วันนี้ขอเปิดประเด็น ยกเรื่อง "เรท (Rate)" หรือที่ผมชอบเรียกว่า Classification ซึ่งช่วงที่เริ่มทำนั้นใช้ว่า "การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์" มีการพูดถึงกันมากในช่วงนี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ แต่มีส่วนคาบเกี่ยวทั้งการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการออกอากาศรายการบางระดับ และการกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) ที่ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์จัดระดับของตัวเอง ไม่ต้องมาผ่านการพิจารณาของ กสทช. ซึ่งไม่เหมือนกับภาพยนตร์ที่มี กฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์ ที่ออกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นำเรื่องการส่งให้คณะกรรมการตรวจก่อนออกอากาศกลับมาใช้

       ผมไม่อาจเอื้อมวิพากษ์แนวทางในปัจจุบัน แต่จะขอเล่าความเป็นมาครับ ในแรกเริ่มเดิมที ก็ตั้งต้นมาจากการพูดคุยของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์สมัยนั้น พูดคุยกับฟรีทีวี ๖ ช่อง (๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑ และ ไอทีวี) ว่าอยากมีระบบแบบนี้เหมือนประเทศอื่นๆ บ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มคุยกันทันที ในขณะทีรัฐบาลยุคนั้นก็เริ่มต้นพูดคุยและส่งต่อให้กระทรวงวัฒนธรรมไปดำเนินการกับสื่อหลายๆ ประเภท เช่น ภาพยนตร์ การ์ตูน สื่อสิ่งพิมพ์ และรวมถึงโทรทัศน์ด้วย ในระหว่างที่ฟรีทีวีดำเนินการ กระทรวงวัฒนธรรมก็ขยับ เชิญประชุมแต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ฟรีทีวีกลับมาพูดคุยกันเอง โดยมีกรมประชาสัมพันธ์อำนวยความสะดวกให้ในระดับหนึ่ง สุดท้ายได้จัดทำคู่มือออกมาฉบับหนึ่ง พร้อมออกแบบโลโก้มาเลือกกันเองในหมู่คนทำงาน (ยังใช้จนถึงปัจจุบัน) และแถลงข่าวประกาศเริ่มใช้ทันที จากนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการก็เข้ามาหลังจากที่ได้มีการทดลองใช้ไประยะหนึ่ง และมีการตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กกช.) ขึ้น เพื่อทำงานร่วมกันเป็นภาคี แต่สุดท้ายก็มีประเด็นที่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายการ ดารา นักแสดงหลายคน ลุกขึ้นประท้วง เพราะเรื่องความเข้าใจผิดว่าจะ "โละทั้งฉบับ" และการทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งช่วงนั้นผมไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศ ๒๘ วัน กลับมาก็เจอปัญหาให้แก้พอดิบพอดี หลังจากนั้นก็คิดว่าถ้าผลักดันเรื่องนี้ยังไม่จบ ผมไม่ขอไปราชการที่ไหน แต่โชคดีที่ทำสำเร็จครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ ตั้งต้นจากคู่มือเล่มเดิมที่ฟรีทีวีร่วมกันทำ โดยให้กรมประชาสัมพันธ์และภาคประชาสังคมและนักวิชาการร่วมกันปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับทุกฝ่าย จนได้มาเป็นคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์กับกลุ่มผู้ชม

        จากที่เล่ามาเพื่อบอกว่า ได้มีการพยายามใช้ระบบการกำกับดูแลกันเองตั้งแต่สมัยกรมประชาสัมพันธ์เป็นสำนักงานเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตแล้ว และเป็นการใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สุดท้ายเราก็ได้เห็นคู่มือเล่มดังกล่าว และเห็นสัญลักษณ์ ป ด ท น และ ฉ แสดงก่อนรายการและมุมจอทีวี เรื่องก็เป็นเช่นนี้แล...

-----