กสท. พิจารณาแนวทางการกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีบริษัทและช่องรายการ ฝ่าฝืนคำสั่ง กสท. ที่ให้ระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหารและยา

       วันนี้ (10 สิงหาคม 2558) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาแนวทางการกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีบริษัท ยูนิเวอร์แซล โปร จำกัด ช่องรายการ Nice Channel ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่ง กสท. ที่ให้ระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหารและยา ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้     1. ผู้ประกอบกิจการวิทยุทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 50,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     2. ผู้ประกอบกิจการวิทยุที่ดำเนินการอยู่ก่อนพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 100,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     3. โทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นหรือระดับภูมิภาค) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 200,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     4. โทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีระดับชาติ) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     5. โทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ (ดิจิตอลทีวี) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 1,000,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งนี้ ที่ประชุม กสท. ได้กำหนดค่าปรับทางปกครอง กรณี บริษัท ยูนิเวอร์แซล โปร จำกัด กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการโฆษณาฯ เป็นจำนวน 500,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง และให้มีคำสั่งแจ้งเตือนการพักใช้ใบอนุญาต เป็นเวลา 30 วัน หากยังฝ่าฝืนคำสั่ง ต่อมาที่ประชุม กสท. พิจารณากรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กสท.กำหนดเกี่ยวกับการการโฆษณาทางธุรกิจเกินกว่าระยะเวลาที่ กสท. กำหนด คือ 12นาทีครึ่งต่อชั่วโมง ตามมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อันเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา 31 วรรคสองแห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสท. ในกรณีดังกล่าวได้กำหนดหลักการกำหนดค่าปรับทางปกครองให้ผู้รับใบอนุญาตชำระ ดังนี้     1 ผู้ประกอบกิจการวิทยุทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     2 ผู้ประกอบกิจการวิทยุที่ดำเนินการอยู่ก่อนพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 750,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง 3 โทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นหรือระดับภูมิภาค) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 750,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     4 โทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีระดับชาติ) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 1,000,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง     5 โทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ (ดิจิตอลทีวี) ลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 1,000,000 บาท และปรับทางปกครองวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยกรณีช่อง MONO 29 มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (8) เนื่องจากบริษัทฯ ออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่า 12นาทีครึ่งต่อชั่วโมง ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงมีคำสั่งให้บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.  เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค พ.ศ. 2555 ข้อ 5(8) อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนให้ มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองตามแนวทางที่กำหนดไว้ และที่ประชุม กสท. ได้พิจารณากรณีบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีการโฆษณาอาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหารและยา ซึ่ง กสท. ได้ที่คำสั่งทางปกครองให้บริษัทฯระงับการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทฯได้มีการโฆษณาอาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหารและยาซ้ำอีก จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กสท. ที่ให้ระงับการโฆษณาฯ ที่ประชุม กสท. จึงมีมติกำหนดค่าปรับทางปกครองให้บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ชำระเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาทต่อวันตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ หากบริษัทฝ่าฝืนไม่มาชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดให้ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึด หรืออายัดทรัพย์สิน และขายทอดตลาด เพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน ตามพ.รบ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง มาตรา 57