วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

       ประเทศไทยมีการถ่ายทอดสดกระจายเสียงครั้งแรกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากรกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้ทรงริเริ่ม จึงถือเอา “วันที่ 25 กุมภาพันธ์” เป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติของทุกปี “ประวัติความเป็นมา”                    วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยทรงตั้งชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” เนื่องจากส่งกระจายเสียงจากพระราชวังพญาไท และยังทรงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยกองช่างวิทยุ ดำเนินการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นการคู่ขนานกับสถานีส่วนพระองค์ โดยผู้ฟังนิยมเรียกว่า “สถานีวิทยุศาลาแดง” เนื่องจากสถานีส่งกระจายเสียงตั้งอยู่ในบริเวณย่านที่เรียกว่าศาลาแดง และต่อมาสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท ได้เปิดกระจายเสียงอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มด้วยการถ่ายทอดเสียงสดกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน หรือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 กองช่างวิทยุได้ดำเนินการขนย้าย เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท เข้าไปไว้รวมกันที่สถานีวิทยุศาลาแดง เนื่องจากทางกองทัพบกต้องการนำที่ดินบริเวณพระราชวังพญาไทไปใช้สอยในราชการ (ก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 คณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ลงมติให้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขดำเนินการอยู่นั้น ไปขึ้นตรงกับกรมโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) โดยให้ชื่อใหม่ว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” ซึ่งใช้อยู่เพียงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” หลังจากมีประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482   จากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 จนถึงปัจจุบัน วิทยุกระจายเสียงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร สาระ บันเทิงที่สามารถครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีสิทธิภาพ ในทุกพื้นที่ และในยุค Internet Socialได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มช่องทางตัวเลือก เช่น รับฟังผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ หรือ สามารถรับฟังได้ผ่านทางเว็บไซด์ เพื่อเป็นการสะดวกและเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาของประชาชนในปัจจุบัน เรียบเรียงใหม่โดย: สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มาข้อมูล: http://th.wikipedia.org http://www.lib.ru.ac.th/journal/feb/feb25-RadioBroadcastDay.html

Contact