การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้ว เมื่อปรากฏว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับเลขที่ ฆอ. ... / .... , ฆท. ... / .....
และ ฆพ. ... / ... จาก อย. แล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์ได้นำเลขที่ .... ดังกล่าว มาอ้างในการโฆษณา ว่าผ่านการตรวจสอบจาก อย. เรียบร้อยแล้ว นั้น อดีตรองเลขาธิการ อย.เภสัชกรหญิงศรีนวล กรกชกร กล่าวในงานประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่ง สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ อย. จัดขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “ที่แต่ละผลิตภัณฑ์นำไปโฆษณาว่าได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. แล้ว อันที่จริงแล้วต้องมาดูว่าข้อความแบบใดที่ทำได้หรือไม่ได้อีกครั้งด้วย” หมายความว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ นอกจากนี้ตัวผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านการตรวจสอบแล้ว ถ้าต้องการโฆษณาขายสินค้าทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จะต้องนำข้อความ รวมทั้ง รูปภาพ และรูปแบบการนำเสนอ โฆษณา ให้ อย. พิจารณาอนุญาตเช่นกัน

โดยมีหลักเกณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
กรณีเป็นยา : ข้อความโฆษณาห้ามโอ้อวดว่าสามารถป้องกัน รักษาได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ หรือ หายขาด ห้ามแสดงสรรพคุณเป็นเท็จเกินจริง หรือทำให้เข้าใจผิดในส่วนประกอบของยา ห้ามโฆษณาทำให้เข้าใจว่าเป็นยาแท้งลูก ยาขับระดู หรือเป็นยาคุมกำเนิด หรือยาบำรุงกาม ห้ามโฆษณาสรรพคุณยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ห้ามรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น ห้ามโฆษณาว่าสามารถบรรเทา รักษา ป้องกันโรคมะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน เบาหวาน หรือโรคอาการเกี่ยวกับสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต ห้ามโฆษณาโดยไม่สุภาพ ห้ามร้องรำทำเพลง ห้ามแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ห้ามโฆษณาโดยการแถมพก หรือ ออกสลากรางวัล
ข้อความที่บ่งบอกว่ามีการโฆษณาเกินจริง คือ ข้อความโฆษณาที่มีอันตรายต่อตัวเรา ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคและคนส่วนรวม จุดสังเกตข้อความนั้นโอ้อวดสรรพคุณเป็นเท็จเกินจริง เช่น กินแล้วทำให้รูปร่างดี แข็งแรง , รักษาโรคมะเร็ง , ลดน้ำหนัก ในการโฆษณาขายยาระบาย , โฆษณาให้ใช้ยาเกินความจำเป็น หรือ ซื้อเป็นของฝาก เช่น กินทุกวันเป็นยาระบาย , ละลายไขมัน , ซื้อยาเป็นของฝากสำหรับคุณแม่ คุณพ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ฯลฯ , โฆษณาโดยแสดงข้อเท็จจริงที่ผิดกฎหมาย เช่น ซื้อยาจากร้านกาแฟ , โฆษณาว่าเป็นยาบำรุงกาม เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

กรณีเป็นอาหาร : ข้อความโฆษณาห้ามแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่เป็นเท็จโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง ต้องโฆษณาตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และถ้าได้รับคำสั่งให้ระงับโฆษณาต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ
สำหรับการโฆษณาอาหารที่แสดงการโอ้อวด หลอกลวง เกินจริง มี 3 ลักษณะ คือ มีการแสดงสรรพคุณทางยา ว่าใช้สำหรับป้องกัน บรรเทา บำบัด รักษา หรือมีส่วนช่วยทำให้อาการของโรคหาย เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ บำรุงร่างกาย เช่น สมอง , มีการแสดงสรรพคุณทางเครื่องสำอาง ว่าใช้สำหรับบำรุงผิว ทำให้ผิวขาว ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น บำรุงผม ทำให้ผม มีน้ำหนักเป็นเงางามป้องกันผมร่วง ผมขาว และลักษณะสุดท้ายมีการแสดงสรรพคุณอื่น ๆ เช่น ทำให้ฟันขาว แก้ปัญหาวัยทอง ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการร่วงของเส้นผม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไว้อย่างชัดเจน แต่พบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่เข้ามายัง สำนักงาน กสทช. และ อย.ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าสาเหตุและปัจจัยสำคัญของปัญหาฯ คือ ผลิตภัณฑ์ฯ ไม่ผ่านการตรวจสอบและไม่ได้รับการอนุญาตให้โฆษณา รวมทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย บ้างดำเนินการผลิตซ้ำทางความคิด โดยเปิดโฆษณาซ้ำไปมาหลายครั้งต่อวัน เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุซึ่งเฝ้าบ้านอยู่ทั้งวัน ได้ยินโฆษณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงรบเร้าให้ลูกหลานซื้อมาฝาก ประกอบกับเนื้อหาโฆษณาได้ตอกย้ำให้ ลูก หลาน ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพไปฝากผู้มีพระคุณ มิฉะนั้นจะถูกกล่าวหาว่าไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณของบิดามารดา ครู อาจารย์ นี่คือแผนการตลาดที่ผู้ประกอบกิจการใช้วัฒนธรรมจารีตประเพณีเป็นเครื่องมือกดดันลูกหลาน เพื่อยืนยันเครื่องหมายของคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต้องซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ไม่มีใครทราบว่า ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีส่วนผสมของยารักษาโรคด้วย เมื่อรับประทานทุกวันจะได้รับยาเกินขนาดจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด

การประกอบธุรกิจที่ขาดหลักธรรมาภิบาล ย่อมทำให้สังคมไม่มีความสงบสุข ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องรู้จักพึ่งพาตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ ถ้าไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผ่านการอนุญาตจาก อย. และมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ สอบถามได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง สายด่วน อย. 1556 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และถ้าได้ยินได้ฟังรายการวิทยุ-โทรทัศน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย ร้องเรียนโดยตรงไปที่ อย. ตามช่องทางข้างต้น หรือจะร้องเรียนมาที่ สำนักงาน กสทช. Call center สายด่วน 1200 (ฟรี) ก็ได้

------------