การโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

       ประเด็นเรื่องการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ใช่ว่า อย. กสทช. และ ปคบ. จะจ้องจับผิดผลิตภัณฑ์ และมองว่าเจ้าของผู้ประกอบการผิดเสมอไปนะครับ เรามาทำความเข้าใจร่วมกันในฐานะผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำเรา ในฐานะผู้บริโภค (ซื้อสินค้า) ที่จะนำมาใช้ ก็ต้องไม่มีสารอันตราย ผลิตภัณฑ์ก็เลยต้องมีเลข อย. รับรอง ส่วนในฐานะผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ เราก็ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่หลองลวง หรือโอ้อวดเกินจริง จากการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ อย. ก็เลยต้องตรวจคำโฆษณาก่อนถ้าจะกล่าวอ้างสรรพคุณ

ประเด็นที่เราพบเห็นบ่อยๆ และให้พึงรู้เท่าทันไว้ว่าผิด เช่น

  • ยา จะโฆษณาว่ารักษาทุกโรคไม่ได้ บางอย่างโฆษณาสรรพคุณครอบจักรวาล ลองคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่
  • อาหาร น้ำผลไม้ น้ำหมัก ฯลฯ จะโฆษณาว่ารักษาโรคไม่ได้ ถ้าจะรักษาโรค ทำไมไม่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เป็นยาล่ะครับ??? ก็เมื่อไม่ขึ้นทะเบียนเป็นยา (ทั้งยาปัจจุบัน สมุนไพร) ก็จะว่ารักษาทุกโรคไม่ได้
  • เครื่องสำอาง จะโฆษณาว่าขาว เรียบ ก็อาจจะเรียกว่าเกินไป หรือจะบอกว่า แพทย์ทุกคนก็ใช้คงไม่ได้ การแสดงสถิติใด ก็ต้องมีผลการศึกษารองรับ และต้องแจ้งเราในโฆษณาด้วย

       ภาคีของ สำนักงาน กสทช. ทำงานกันอย่างหนัก ทั้ง อย. เองที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ รับผิดชอบโดยตรง ก็พยายามเร่งจัดการปัญหา ทั้งวางแผน ลงปฏิบัติ และจับกุมผู้กระทำผิด โดยได้รับความร่วมมือจาก ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ทำงานฉับไว รวมถึงองค์กรภาคี ที่ทำงานทั้งทางวิชาการ ลงพื้นที่ และสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น กพย. และชมรมเภสัชชนบท

มีข้อแนะนำจาก อ.ภาณุโชติ ทองยัง ที่ทำงานกับ สำนักงาน กสทช. ว่าเราจะทวงสิทธิและจัดการกับโฆษณาที่หลอกลวงได้ด้วย ๔ ขั้นตอน

  1. ตรวจสอบว่าโฆษณาชิ้นนั้นมีเลขโฆษณาหรือไม่
  2. ตรวจสอบว่าเนื้อหาของโฆษณาชิ้นนั้นตรงกับชนิดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือไม่
  3. ตรวจสอบว่าเนื้อหาโฆษณานั้นโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่
  4. หากตรวจสอบแล้ว แต่ยังสงสัยหรือไม่แน่ใจ ก็ให้สอบถามได้ที่ อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด

       นอกจากนี้ เราพึงรักษาสิทธิของผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากการโฆษณาที่เหมาะสมสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ดังนั้น เมื่อพบเห็นการกระทำที่คิดว่าผิด กดโทรศัพท์หาพวกเราที่ ๑๕๕๖ (อย.) หรือ ๑๒๐๐ (กสทช.) ด้วยครับ

-----