การสัมมนา เรื่อง "กสทช. กับนโยบายการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน : กรณีสื่อวิทยุ"

       

       เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่อง "กสทช. กับนโยบายการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน : กรณีสื่อวิทยุ" ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ

       วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อให้ กสทช. ได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจากการแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนโยบายของ กสทช. เรื่อง การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาการอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างความพร้อมของประชาชนและผู้บริโภคภายใต้ระบบการกำกับดูแลตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พุทธศักราช 2551 โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการวิทยุ 3 กลุ่ม ได้แก่ วิทยุบริการชุมชน บริการสาธารณะ และวิทยุธุรกิจ พร้อมทั้งผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจ ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ “นโยบาย กสทช. กับการกำกับดูแลกิจการวิทยุและทิศทางในอนาคต” ซึ่งมีประเด็นการเสวนาได้แก่ 1.กระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาต 2.การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารและสุขภาพ 3.การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการวิทยุ 4.ทิศทางในอนาคต : การจัดการคลื่นความถี่กับวิทยุดิจิตอล รวมไปถึงการนำเสนอผลการรายงานการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ

       ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ นักวิจัยในโครงการติดตามนโยบายด้ายกิจการกระจายเสียงของ กสทช. สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งขาติ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบการวิทยุขนาดเล็กภายใต้กระบวนการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลของ กสท. พบว่าเมื่อ กสทช. ได้รับการแต่งตั้งและจัดทำแผนแม่บท มอบหมายให้ กสท.กำหนดให้สถานีวิทยุกว่า 6,000 สถานี ทดลองออกอากาศเป็นเวลา 300 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการทดลองประกอบกิจการ และลงทะเบียนในนาม “วิทยุชุมชน” แต่เนื่องจากมีสถานีวิทยุมากจนทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการชั่วคราวครบทุกสถานี จนต้องขยายสิทธิการทดลองออกอากาศไปอีก 300 วัน ต่อมา กสท. ได้ออกใบอนุญาตประเภทการประกอบกิจการกระจายเสียงเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการชุมชน บริการสาธารณะ บริการธุรกิจ โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จะได้หน้าที่นำเครื่องสัญญาณไปตรวจ แต่ กสท.พิจารณาให้ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ณ ตอนนี้ได้เพียง 2,844 สถานี แยกเป็นบริการชุมชน 426 สถานี บริการสาธารณะ 584 สถานี และบริการธุรกิจ 1,834 สถานี อีกทั้งยังสถานีเปิดใหม่กว่า 2,000 ราย ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทดลองออกกากาศ ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะปกป้องสิทธิของผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกว่า 6,000 รายที่เลือกทำตามกฎหมาย และการพิจารณาการขอใบอนุณาตที่มีความล่าช้าทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบกิจการ

       ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในขณะนี้ได้มีการพยายามกำหนด กระบวนการ กฎเกณฑ์ และจัดระเบียบในการกำกับดูแลทดลองผู้ประกอบกิจการ เพื่อพิจารณาการออกใบอนุญาต แต่มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายค่อนข้างน้อย ซึ่งนำไปสู่ความยากในการออกใบอนุญาตจริง การกำกับดูแลอาจจะไม่เกิดผลตามที่ประชาชนคาดหวัง

       ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพิจารณาการออกใบอนุญาต ไม่ได้ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากกำหนดคุณสมบัติ ยกตัวอย่างเช่น วิทยุชุมชน ที่มีค่าธรรมเนียมรายปี 500 บาท แต่ห้ามมีการโฆษณาหารายได้ ซึ่งอาจจะขัดกับวิถีชีวิตจริงที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเปิดสถานี ถึงแม้ว่า นโยบาย กสทช. ที่ออกตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2555-2559 มียุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภคและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่รายการวิทยุจะมีปัญหามากในเรื่องคุณภาพรายการ ไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ และการจัดสรรคลื่นความถี่กับวิทยุดิจิตอล แม้ว่าการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานในการรับสัญญาณ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมศักยภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเทคโนโลยีในการใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพิ่มภาระการลงทุนเครื่องส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลที่สูงของผู้ประกอบกิจการ หากมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล จะต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบเวลามาตรฐานเทคโนโลยีดิจิตอล

-----

กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.)