หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในยุคภูมิทัศน์ใหม่สื่อสารมวลชน” เรื่อง การกำกับดูแลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

กฎหมายและการกำกับดูแลสื่อดิจิทัล มีระบบที่แตกต่างกัน โดยกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีการกำกับดูแลในลักษณะการออกใบอนุญาต เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้ในการประกอบกิจการมีอยู่อย่างจำกัด โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐, ฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรการสื่อสารของชาติ โดยให้มีหน่วยงานในการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาต และกำกับดูแลกิจการดังกล่าว โดยมีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบกิจการ และการกำกับดูแล ในระบบใบอนุญาต ซึ่งให้อำนาจองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการออกกฎหมาย ประกาศกำหนดในรายละเอียดต่างๆ
ในการกำกับดูแลด้วยระบบใบอนุญาต โดยหน่วยงานกำกับดูแล เป็นการจำกัดผู้ประกอบกิจการ ตามคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด และทำให้มีผู้รับผิดชอบต่อการประกอบกิจการสื่อ หน่วยงานรัฐทราบถึงนิติบุคคลผู้ประกอบกิจการ ที่ตั้ง ที่อยู่ โดยมีการกำหนดทั้งลักษณะการประกอบกิจการ ทางเทคนิค การออกอากาศ การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งหากผู้ใดมีการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การออกอากาศโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีความผิดทางอาญา ในขณะเดียวกัน หากผู้รับใบอนุญาตมีการกระทำความผิด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย กสทช. ก็สามารถดำเนินการลงโทษทางปกครองต่อผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในการอนุญาตได้ โดยการเตือน การปรับ การพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้
ส่วนสื่อออนไลน์ มีเสรีภาพในการสื่อสาร ผู้ใดที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะสามารถเป็นผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ได้ เป็นผู้สื่อสาร สร้างสรรค์สื่อเข้าสู่ระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎหมายทั่วไป เช่น กฎหมายอาญา ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลามกอนาจาร ยาเสพติด การค้าประเวณี การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ฯลฯ
ประมวลกฎหมายอาญา การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งหมิ่นประมาทต่อคนเป็นตามมาตรา ๓๒๖ และหมิ่นประมาทต่อคนตายตามมาตรา ๓๒๗ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนซึ่งสามารถแพร่สะพัดข่าวทั้งหลาย ไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความเสียหายขยายวงกว้างตามไปด้วย ไม่ว่าการโฆษณาข่าวนั้นจะได้กระทำโดยวิธีการใดๆ ก็จะต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา ๓๒๘ คือ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มักจะมาเป็นแพ็คคู่กับประมวลกฎหมายอาญา คือ มาตรา ๔๒๓ ที่กำหนดให้ผู้ที่ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืน ต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของบุคคลอื่น ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่เสียหายด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในวรรคท้ายก็มีข้อยกเว้นว่า หากการส่งข่าวเท็จนั้น ตนเองมีส่วนได้เสียในข่าวนั้นด้วย แม้ข่าวนั้นไม่ใช่ความจริง ก็ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายนั้น
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ กระทำได้ยาก เนื่องจากจะต้องสืบค้นว่าผู้ใดเป็นผู้ผลิต ผู้เผยแพร่ และผู้รับผิดชอนต่อการกระทำความผิดนั้นๆ เพื่อที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนการดำเนินคดีทางปกครองต่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบใบอนุญาต
เมื่อเปรียบเทียบบทกำหนดโทษแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ มีลักษณะโทษทั้งทางการปรับ การจำ หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า ส่วนพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ เป็นโทษทางปกครองโดยการปรับ (พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต) เป็นหลัก
มิติด้านช่องทาง
- สื่อวิทยุ – โทรทัศน์ ในระบบดิจิทัล (กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล)
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๓๑ กำหนดให้ กสทช. กำหนดการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการกำกับดูแล
กสทช. ออกประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งกำหนดลักษณะการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาดังต่อไปนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ
(๑) การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ มีคําสั่งหรือคําวินิจฉัยว่าเป็นการดําเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(๒) การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจ ให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญ เกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริง หรือเกินความจริง
(๘) การออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง
(๙) การออกอากาศรายการในลักษณะที่จัดให้มีข้อความหรือข้อมูล ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกันเกิน หนึ่งในแปดของขนาดพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์ อันเป็นการรบกวนการรับชมรายการของผู้บริโภคโดยไม่มี เหตุผลอันสมควร
(๑๐) การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาโดยใช้วิธีการเพิ่มเสียงดัง เพื่อดึงดูดความสนใจ ของผู้บริโภค ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในลักษณะเป็นการบังคับให้รับข้อมูลข่าวสาร รายการ หรือการโฆษณานั้น หรือเป็นมลพิษทางเสียง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๑๒) กรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เช่น การออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการเชิญชวนหรือจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือที่เป็นการหลอกลวง โดยอาศัยความเชื่ออย่างงมงายหรือความศรัทธาของบุคคลซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผล หรือกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับ (กสทช. กำหนดเพิ่มเติมภายหลัง)
ทั้งนี้ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ หากผู้รับใบอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งระงับการกระทำนั้น มีโทษไม่เกิน ๕ ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน ๑ แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
- สื่อออนไลน์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๐
มิติด้านสินค้าและบริการ
กฎหมายที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการโฆษณา ซึ่งมีผลต่อการกำกับดูแลการโฆษณาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ปุ๋ย หมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ
อนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์และการบริการนั้นๆ ก็อาจทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลช่องทางการสื่อสารอย่าง กสทช. ด้วย โดยล่าสุด เพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองในการรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม รวมทั้งได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร กสทช. จึงมีแนวคิดให้มีการบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
โดยเป็นการถอดบทเรียนและพัฒนาความร่วมมือจากการทำงานร่วมกันระหว่าง กสทช. และ อย. ทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาการโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการพิจารณาการความผิดกรณีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งในกรณีที่ อย. ได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามแต่กรณี เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเป็นอาหารตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่มีการให้นิยามไว้ว่าเป็นของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต อันไม่มีความมุ่งหมายให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายมนุษย์และไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรืออาการของโรค ซึ่งการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจเช่นว่านั้น เป็นการแสดงความมุ่งหมายว่า ผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทำหน้าที่ได้เหมือน “ยา” ตามนิยามในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้น ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็นการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ตามข้อ ๕ (๒) ประกอบข้อ ๖(๑)(๒)(๓) ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ พ.ศ. ๒๕๕๕

โดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.)