การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง (ตอนที่ 1)
ขึ้นชื่อว่า “คนไทย” ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายที่สังคมให้การยอมรับบุคคลนั้น ๆ ว่าเป็นคนดีที่ควรค่าแก่การยกย่อง โดยพื้นฐานแล้ว คนดีจะต้องรู้จักทดแทนพระคุณของผู้ที่มีพระคุณ คือ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา และคุณยาย ที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่ยังแบเบาะตีนเท่าฝาหอยจนเติบใหญ่ รวมถึงพระคุณของครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณทุกท่าน วิธีตอบแทนพระคุณอย่างหนึ่ง คือการซื้อของมาฝาก ในยามที่เราต้องไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง ของฝากที่ว่านี้คงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย ผู้ ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเลือกที่จะนำประเพณีและวัฒนธรรมไทยมาเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ปรากฏว่าประชาชนหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ทั้งที่ซื้อหามารับประทานเอง และซื้อฝากผู้มีพระคุณ โดยไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีโทษต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด จนเป็นที่มาของเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่ส่งมายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ทำไมการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยา ทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จึง กลายเป็นเรื่องอันตรายต่อประชาชนและผู้บริโภค แล้วใครมีหน้าที่อนุญาตให้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ถ้าเช่นนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ไม่ดีต่อร่างกาย จะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อไปฝากผู้มีพระคุณ คำตอบที่ควรรู้อยู่ที่ไหน .... ที่นี่ ! มีคำตอบทางตรง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ จากผู้ประกอบกิจการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ รวมทั้งกำกับดูแลช่องทางการแพร่เสียงแพร่ภาพในกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ตามที่กฎหมายบัญญัติและข้อกำหนดของ กสทช. และ เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ข้อ 5 (1) สรุปได้ว่า การกระทำที่ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค คือ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตาม กฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ มีคำสั่งหรือมีคำวินิฉัยว่าเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในทางอ้อม สำนัก งาน กสทช. ได้ประสานความร่วมมือและข้อมูลต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งมีอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ใช้อำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ สุขภาพในสื่อทุกช่องทาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ : ภายใต้ กฎหมาย พ.ร.บ 7 ฉบับ ได้แก่ ยา วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาหาร ยาเสพติดให้โทษ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาได้หรือไม่ คำตอบคือได้ จำนวน 4 ชนิด แต่ต้องได้รับการอนุญาตจาก อย. ก่อน ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง ถ้าได้รับอนุญาตให้โฆษณา ผลิตภัณฑ์อาหารจะได้รับเลขที่ ฆอ. .... /... , ผลิตภัณฑ์ยาจะได้รับเลขที่ ฆท. ..../...., เครื่องมือแพทย์จะได้รับเลขที่ ฆพ .../.... ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขที่ แต่ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยา จนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและผู้บริโภคในวงกว้าง เป็นที่มาของเรื่องร้องเรียนที่ส่งตรงมายัง สำนักงาน กสทช. นั้น เภสัชกรหญิงศรีนวล กรกชกร อดีตรองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า เลข อย. ที่แต่ละผลิตภัณฑ์นำไปโฆษณาว่าได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. แล้ว อันที่จริงที่ถูกแล้วต้องมาดูว่าข้อความแบบใดที่ทำได้หรือไม่ได้อีกครั้ง ด้วย ถึงตอนสำคัญ ของการพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โฆษณาทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ได้สร้างกระทบต่อผู้มีพระคุณของเราและบุคคลที่เป็นที่เคารพรักยิ่งของเรา ตลอดจนประชาชนและผู้บริโภคทั่วไปได้อย่างไร ติดตามอ่านบทความ เรื่อง “การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง (ตอนที่ 2)”