ขออีกครั้ง เรื่อง"เรท (Rate)" แต่ผมเรียกว่า "Classification"

       หลังจากที่เล่าความเป็นมาของการแสดงสัญลักษณ์ "ป" "ด" "ท" "น๑๓+" "น๑๘+" และ "ฉ"  ที่ ปฐมบท ว่าด้วยเรื่อง "เรท (Rate)" แล้ว ผมขอเล่าแนวคิดเพิ่มเติมในฐานะที่มีส่วนในการปฏิบัติให้เกิดกลไกนี้

  • การประเมินคุณภาพรายการ ถูกนำเสนอให้มีการนำมารวมกับการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์กับกลุ่มผู้ชม ในชื่อว่า "ทฤษฎี +๖ -๓" แต่สุดท้ายก็ตกไป เพราะได้เข้าใจร่วมกันว่า ระบบ Classification เป็นการให้คำแนะนำกับผู้ชมในการที่จะเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ให้เหมาะสมกับวัยของตน หรือถ้าเป็นผู้ปกครอง ก็จะได้ทราบว่า รายการที่ชมอยู่นั้น หากไม่ได้นั่งชมอยู่กับลูกของตน ก็อาจจะส่งผลต่อทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมของลูก หลาน หรือเด็กๆ ได้ และทฤษฎีนี้ได้ถูกผลักดันนำไปใช้กับสื่อภาพยนตร์ ทำให้ มีสัญลักษณ์ "ส" ส่งเสริมขึ้น คือ ภาพยนตร์ที่รัฐจะส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยดู จะมีความรุนแรง หรือประเด็นอื่นเท่าไรก็ได้ตามความเหมาะสมที่กรรมการจะพิจารณาให้มีได้ แต่นั่นก็หมายความว่า เด็ก ๑๒ อาจได้ดูการสู้รบในทุ่งอะไรสักอย่างตามท้องเรื่องประวัติศาสตร์ ที่เห็นภาพเลือดสาดกระจายก็เป็นได้
  • เรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคุยกันมากในช่วงที่จัดทำนั้น คือ เรื่องว่า แล้วผู้ใหญ่จะมีเวลานั่งดูรายการโทรทัศน์กับเด็กหรือ? แล้วถ้ามีเวลาจะรู้หรือไม่ว่าจะแนะนำอะไร? ในการตอบคำถาม ๒ ข้อนี้ ยากยิ่งนัก

(๑) การสร้างความรับรู้ และเห็นคุณค่าของการดูทีวีร่วมกัน นักวิชาการหลายท่านก็ออกมาบอกแล้วว่า อย่าใช้ทีวีเลี้ยงลูก เพราะกว่าลูกจะดูถึงตอนที่สอนว่า ทำชั่วได้ชั่ว ก็ไม่รู้เด็กจะได้ดูตอนนั้นหรือไม่ หรือความรุนแรงได้แทรกซึมเข้าไปยังจิตใจเด็กอย่างไม่รู้ตัวแล้ว รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้เพื่อใช้ประโยชน์ของ Classification ด้วย
(๒) การใช้ประโยชน์จาก Classification ก็ต้องขึ้นกับว่า ผู้ปกครองต้องการแนะให้เด็กไปในทางใด คงไม่มีใครขีดเส้นให้พ่อ-แม่ของทุกครอบครัวเลี้ยงลูกให้เหมือนกัน หรือว่าสั่งสอนเด็กไปในแนวทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะสอนก็ต้องเป็นความประสงค์ของพ่อ-แม่ และผู้ปกครองเอง ว่าต้องการให้ลูกหลานหรือเด็กของท่านเป็นเช่นไร (ไม่ได้ปัดภาระ แต่ไม่ได้ต้องการขีดเส้นให้) อย่างไรก็ตาม ได้มีการหยิบยกเรื่องการใส่รายละเอียดลงไปด้วย เพราะบางประเทศได้ทำในการดำเนินการภาพยนตร์ เช่นว่า เรื่องนี้มีระดับความรุนแรง เรื่องเพศ หรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมเท่าไร จะได้ระมัดระวังในส่วนนั้น แต่ด้วยรายละเอียดที่มีมาก จึงไม่เหมาะกับงานด้านสื่อโทรทัศน์ ที่มีเวลา ๒๔ ชั่วโมงในการออกอากาศ อาจเป็นภาระเกินไป จึงพิจารณากันว่ายังไม่ดำเนินการ
(๓) เราเชื่อกันว่า อย่างไร สื่อโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ก็ยังคงมีการเข้าถึงสูงที่สุด (ในยุคนั้น) สูงกว่าการชมทางอินเทอร์เน็ตและอีกอย่าง

       เพื่อให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน สรุปได้ว่า ในการคิดระบบนั้น ได้มองถึงอำนาจรัฐในการกำกับดูแลตามกฎหมายอยู่ (รัฐไทยไม่ได้โอนอำนาจในการกำกับดูแลให้สภาวิชาชีพทั้งหมด เห็นได้จากว่ามีมาตรา ๓๗ ของ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีการพิจารณาอยู่) หมายความว่า รัฐยังคงดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคมด้วยกฎหมาย (ต้อง - ต้องไม่) ดังนั้น การจัดทำรายการหนึ่ง สถานีฯ ก็ต้องคำนึงว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ผิดกฎหมายรายการนั้นออกอากาศได้ แล้วจึงมาทำการจัดระดับความเหมาะสมฯ

จากการเล่าแค่ ๓ ข้อ ก็ยาวมากพอแล้ว ขอจบตอนแต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ

-----

Categories
Contact