กสทช. ลงดาบช่องดิจิตอล พ่วงทีวีดาวเทียม และวิทยุ โฆษณาอาหาร – ยา ผิดกฎหมาย

       วันนี้ (๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗) สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพประชาชน และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยข้อมูลการร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของอาหารและยา โดยสำนักงาน กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังคงพบการโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย ทั้งในสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และไม่เว้นแม้แต่ในทีวีดิจิตอล ล่าสุดทั้ง อย. และ กสทช. เตรียมออกคำสั่งให้ระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Miracle Perfect Srim ในรายการ ตกมัน(ส์)บันเทิง ทางช่อง MCOT HD ของ บมจ. อสมท. แล้ว

       นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เมื่อเราตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้ประสานไปยัง อย. เพื่อพิจารณาตามกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแล ล่าสุด อย. ชี้มาแล้วว่า มีการโฆษณาผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยา ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการของ สำนักงาน กสทช. ต่อไปโดยจะสั่งระงับโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย อย. และถือว่าเป็น การกระทำซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ มีโทษสูงสุดตามกฎหมาย กสทช. สามารถปรับได้สูงสุดถึง ๕ ล้านบาท และ กสท. เองก็กำหนดแนวทางไว้ด้วยว่า หากมีการกระทำผิดรุนแรง ก็อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ นอกจากนี้ ประวัติการกระทำความผิดต่างๆ ก็ส่งผลต่อการพิจารณาใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการด้วย

       นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายอาหารและยาในช่องดิจิตอลอื่นๆ อีก ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีมาตรการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว และไม่เพียงแต่ฟรีทีวีเท่านั้นยังมีทีวีดาวเทียมอีก ๑๑ ช่องรายการ ที่มีการโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย ได้แก่ Zabb Channel, Happy Home TV, CHIC CLUB CHANNEL, Asian Film, Mystery Channel, Nice Channel, UMM TV, AJP, MV Bangkok Channel หนัง แชลแนล และ มงคล แชนแนล ซึ่งความผิดส่วนใหญ่จะเป็นการโฆษณาอาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณายาโดยแสดงสรรพคุณยาอันตราย เช่น สเปรย์น้ำสมุนไพรรักษาปวดประจำเดือน หรือไมเกรนได้ มีการลดแลกแจกแถม โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ลดน้ำหนัก รับประทานแล้วขาวใส เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ล้วนหลอกลวง เกินจริง เอาเปรียบผู้บริโภค หากหลงเชื่อซื้อหามาบริโภคนอกจากจะเสียทรัพย์แล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้องด้วย

       “ช่องทีวีดาวเทียมที่มีการตรวจสอบพบโฆษณาผิดกม.เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นช่องที่เคยลงนามในข้อตกลงเรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และรับทราบแนวปฏิบัติเรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จาก สำนักงาน กสทช .แล้ว ในช่วงที่มี การปิดช่องรายการหลังจากรัฐประหาร เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำจากสัญญาที่ให้กันไว้ จากนี้ไป สำนักงาน กสทช. ต้องเดินหน้าปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา” กสทช.สุภิญญา กล่าว

       สำหรับปัญหาการโฆษณาอาหารและยา ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงนั้น มีข้อมูลผลการเฝ้าระวัง สื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ๒๕๕๗ ในโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ๑๐ จังหวัด และ สำนักงาน กสทช. ว่ายังคงพบการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายในทั้ง ๑๐ จังหวัดที่มีการเฝ้าระวัง โดยมีการโฆษณาอาหารและยาโอ้อวดเกินจริง ในลักษณะเดียวกับที่พบทางโทรทัศน์ ผลจากการเฝ้าระวัง ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ สัปดาห์ ทางสื่อวิทยุ ๓๓ คลื่นใน ๑๐ จังหวัด ซึ่งเป็นคลื่นหลัก จำนวน ๓๑ คลื่น เป็นคลื่น FM ๒๗ คลื่น และ คลื่น AM ๔ คลื่น พบว่า ร้อยละ ๘๘ มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดย พบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้นจำนวน ๑๐๓ รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน ๕๔ รายการ ผลิตภัณฑ์ยา ๓๕ รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ๑๓ รายการ และโฆษณาสถานพยาบาล ๑ รายการ

       “ขณะนี้ อย. ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีผิดกฎหมายจริง ๔ สถานีในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ สถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๒๐ สถานีวิทยุ สวพ.ขอนแก่น สถานีวิทยุเบสท์เรดิโอ และสถานีวิทยุสุขภาพดีมีสุข ซึ่งทั้ง อย. และสำนักงาน กสทช. ก็ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว จากนั้นจะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับโทรทัศน์ต่อไป เราร่วมกันเฝ้าระวังทีวีทุกช่อง วิทยุทุกคลื่น หากพบ ก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม และสถานีวิทยุที่มีการดำเนินการไปแล้ว อย. ยังอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง สำนักงาน กสทช. เฝ้าระวังและตรวจพบ แล้วขอให้ อย. ตรวจสอบอีกกว่า ๒๐ ช่อง โทรทัศน์ดาวเทียม และ ๒๗ สถานีสำหรับวิทยุ คาดว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายได้ในเร็วๆนี้” ภก.ประพนธ์ กล่าว

“บทลงโทษการโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายนั้นรุนแรง ค่าโฆษณาที่ได้รับอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการถูกปรับ หรือถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ และแม้ว่าเจ้าหน้าที่ กสทช. และ อย. จะทำงานอย่างแข็งขันเพียงไร ก็ยังไม่อาจดูแลให้ทั่วถึงได้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ก็สามารถร้องเรียนมาที่ สำนักงาน กสทช. ได้ ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๑๒๐๐ และที่ อย. ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๑๕๕๖” กสทช.สุภิญญา กล่าวสรุป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐ ต่อ ๕๗๔๖ โทรสาร ๐๒ ๒๗๑ ๗๔๐๐ ต่อ ๕๗๔๖

 

 

หมายเหตุ ๑๐ จังหวัด ที่มีการเฝ้าระวังได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฏร์ธานี สงขลา และสตูล

Contact