กสทช. จับมือสื่อ 11 องค์กรวิชาชีพสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ประกาศเจตนารมณ์การกำกับดูแลกันเอง สร้างมาตรฐานเดียวกัน

       เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่ง (กสทช.) ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2556 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยมี พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และในประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา และองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เข้าร่วมงาน

       พันเอก ดร.นที กล่าวว่า กสทช.ต้องการให้ผู้ประกอบการเอกชนและองค์กรวิชาชีพสื่อ กำกับดูแลกันเอง โดยองค์กรกำกับดูแลของของรัฐลดการกำกับดูแลลง เพื่อให้มีการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารได้อย่างสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ซึ่งผู้ประกอบการและองค์กรวิชาชีพสื่อต้องพิสูจน์บทบาทของตัวเอง หาจุดสมดุลและส่งเสริมเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน  แม้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะให้คนในระดับเดียวกันจะยอมรับซึ่งกันและกัน และกำกับกันเอง  ดังนั้นต้องพัฒนาการยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้ กสทช.เข้ามาดูแล ยกเว้นกรณีร้ายแรง หรือยอมรับไม่ได้จริงๆ เท่านั้น

       ในขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพ 11 องค์กร ได้แก่ 1.สภาวิชาชีพกิจการการเผยแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศไทย)  2.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 3.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 4.สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) 5.สมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย 6.สมาคมโฆษณาแห่งประเทศ 7.สมาคมสื่อสารมวลชนสัมพันธ์จักรชัยเพื่อความมั่นคง 8.สภาองค์กรวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ภาคประชาชน 9. สมาคมสภาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทย 10.สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ 11.สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย ลงนามร่วมกันและประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรวิชาชีพเพื่อการกำกับดูแลตนเอง ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็น ปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับในการยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

       กสทช. สุภิญญา  กลางณรงค์  กล่าวว่า เวลานี้สื่อตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่าย แม้ว่าสื่อคงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่ในเมื่อมีเสียงวิจารณ์มากก็แปลว่าอาจมีอะไรผิดปกติที่ต้องทบทวนตัวเอง หลังจากนี้ กสทช.จะสนับสนุนให้แต่ละองค์กรจะไปทำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของแต่ละวิชาชีพสื่อให้เหมาะสมและพิสูจน์ว่าสามารถกำกับดูแลกันเองได้ อีกทั้งสื่อทีวีในขณะนี้มีทั้งรายเดิมอย่างฟรีทีวีและรายใหม่อย่างทีวีดาวเทียม ซึ่งฟรีทีวีจะยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่เป็นสื่อของรัฐ ยังขาดความเป็นอิสระ และทาง กสทช.ก็กำลังแก้ไขปัญหานี้ โดยคาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะเริ่มมีการประมูลทีวีดิจิตอลเป็นโอกาสที่จะทำให้สื่อทีวีทั้งรายเก่าและรายใหม่ออกแบบฟรีทีวีใหม่ในระบบใบอนุญาตร่วมกัน

       สำหรับกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.) สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมจัดนิทรรศการในงานดังกล่าว โดยมุ่งเน้นแนวคิดการสร้างให้องค์กรวิชาชีพและผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีความตระหนักถึงการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ การปฏิบัติให้ถูกต้องเรื่องการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ต้องไม่หลอกลวงและเกินจริง รวมทั้ง การจัดให้มีบริการที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เช่น บริการคำบรรยายแทนเสียง (Caption) เสียงบรรยายภาพ (Audio Description) ภาษามือ (Sign Language) เป็นต้น

 

-------------------------------

กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.)

Contact