กสทช. เห็นชอบร่างประกาศ 3 ฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาวิทยุภาคพื้นดินรบกวนกิจการวิทยุการบิน และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

       นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ต.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อแก้ปัญหาวิทยุภาคพื้นดินรบกวนกิจการวิทยุการบิน ได้แก่ 1. (ร่าง) ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบินของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. .... 2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... และ 3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การวัดการแพร่แปลกปลอม ของสถานีทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. .... พร้อมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

       ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ จะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการกำกับดูแล การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ. เอ็ม. ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ประกาศทั้ง 3 ฉบับ ยังได้กำหนดเงื่อนไขการป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ. เอ็ม. ทั้งสถานีทดลองประกอบกิจการและสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ (สถานวิทยุ FM หลัก) เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกิจการวิทยุการบิน ทั้งระบบสื่อสาร ระบบนำทาง และระบบนำร่อนของอากาศยาน

       จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง กระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุคมนาคม เครื่องหมาย และประกาศนียบัตรผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ ร่างประกาศฉบับนี้ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาขอใบอนุญาต และที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันทางโทรคมนาคม และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ร่างประกาศฉบับนี้จะแก้ไขให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล จากเดิมกำหนดให้เก็บไว้ในช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของการใช้บริการนับจากวันที่ใช้บริการปัจจุบัน ซึ่งจะมีปัญหาเมื่อมีการร้องเรียนภายหลังระยะเวลา 3 เดือน

      ผ่านไปแล้ว ล่วงเลยระยะเวลาการเก็บข้อมูลดังกล่าวจึงไม่มีข้อมูลการใช้งานของผู้ร้องเรียนมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งร่างประกาศฯ ที่แก้ไขนี้จึงได้เพิ่มข้อความ “กรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการ แม้จะพ้นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องเก็บหลักฐานการให้บริการไว้แต่ไม่เกิน 2 ปี ” ทั้งนี้เพื่อเห็นการคุ้มครองผู้บริโภค

Contact