กสทช. หนุนทีวีดิจิตอล จัดสัมมนา “๖๐ ปีโทรทัศน์ไทย จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล”

       เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ กรุงเทพฯ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ “๖๐ ปีโทรทัศน์ไทย จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล” ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมี นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดยมี พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ (กสทช.) ผู้บริหารสำนักงาน กสทช.  ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมการสัมมนาด้วย การสัมมนาเชิงวิชาการ “๖๐ ปีโทรทัศน์ไทย จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ในการเปลี่ยนแปลงระบบออกอากาศของโทรทัศน์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนผู้บริโภค และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย มีส่วนร่วมและพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล  พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.  กล่าวว่า “โทรทัศน์ไทยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘  ในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงครามสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรก คือ “โทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม” ออกอากาศจากวังบางขุนพรหม หรือที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน “ช่อง ๔ บางขุนพรหม”นับเป็นรากฐานอันสำคัญของวงการโทรทัศน์ไทย ซึ่งตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ทั้งจากทีวีขาว-ดำ สู่ทีวีสี จากระบบแอนะล็อกไปสู่ดิจิตอล ซึ่งดำเนินการในช่วงที่มี กสทช. เป็นไปตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจ  ๒๔ ช่องรายการ และบริการสาธารณะ  ๔ ช่องรายการ ประชาชนสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้แล้ว แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องรับโทรทัศน์ กสทช. ได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวให้กับประชาชนทุกครัวเรือนอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวาง และเข้าใจอย่างถูกต้องในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”  ด้าน พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ กสทช. กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของกิจการโทรทัศน์ครั้งสําคัญอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ด้วยขนาดคลื่นความถี่วิทยุที่เท่ากัน โทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสามารถส่งช่องรายการได้เพียงช่องเดียว แต่เทคโนโลยีระบบดิจิตอลจะสามารถออกอากาศได้มากถึง ๘-๒๕ ช่องรายการ อีกทั้งยังมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม สามารถให้บริการมัลติมีเดียใหม่ๆ และยังช่วยลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายการส่งสัญญาณร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ประชาชนจึงได้รับบริการที่มีความหลากหลายจากจํานวนช่องรายการที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยคุณภาพที่ดีกว่าเดิม อันจะนํามาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม     ทั้งนี้ กสทช. ได้เห็นชอบแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของ ๔ สถานี ได้แก่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) กองทัพบก (ททบ.๕) กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง ๑๑ NBT) และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง ๙ MCOT) ซึ่งจะทยอยยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกภายในปี ๒๕๖๑ โดย ThaiPBS เป็นสถานีแรกที่จะเริ่มทยอยยุติออกอากาศในระบบแอนะล็อก ในปี ๒๕๕๘ มีการยุติออกอากาศในระบบแอนะล็อกไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ใน ๒ พื้นที่แรก คือ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  “การจัดงานในวันนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจากอดีตสู่ปัจจุบัน  และสร้างการรับรู้  เข้าใจของผู้บริโภคต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  รวมถึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย มีส่วนร่วมและมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้บริหารของผู้ประกอบการโครงข่าย สถานีโทรทัศน์ทุกสถานี ให้เกียรติมาร่วมงานอันสำคัญในวันนี้อย่างพร้อมเพรียง โดยร่วมกล่าวเจตนารมณ์ “การสร้างสรรค์โทรทัศน์ไทยในยุคดิจิตอล” ผู้ประกอบการทุกท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการโทรทัศน์ไทยที่จารึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ และจะเป็นอดีตที่งดงามในอนาคต หากเราทุกคนร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงใจ และจริงจังสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้”  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์  โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐  ต่อ ๕๗๓๒  โทรสาร  ๐๒ ๒๗๑ ๗๔๐๐ ต่อ ๕๗๓๒

Contact