จับตาแผนยุติแอนะล็อก ช่อง 7 – ช่อง 3 กสท. เตรียมออกเกณฑ์ส่งเสริมวิทยุชมชนคุณภาพ

       นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 12/2559 วันพุธที่ 20 เม.ย. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทั้งนี้ ช่อง 7 ได้แจ้งว่าจะยุติการรับส่งสัญญาณในระบบแอนะล็อกและคืนคลื่นความถี่เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกองทัพบกกับ บ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด สิ้นสุดลงในวันที่ 15 พ.ค. พ.ศ. 2566 พร้อมกันทั่วประเทศ เว้นแต่ในพื้นที่ใดที่ไม่มีผู้รับชมโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกแม้แต่คนเดียว บ.ยินดีจะยุติออกอากาศเป็นรายกรณีไป และ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีแผนดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ร่วมกับ บมจ. อสมท.และจะยุติระบบแอนะล็อกในปี 2563 ซึ่งสิทธิและดุลยพินิจเป็นของ บมจ.อสมท.(ในฐานะผู้อนุญาตให้สัมปทาน)แต่เพียงผู้เดียวในการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาหรือยุติการรับส่งสัญญาณ ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ระยะเวลาการยุติทีวีแอนะล็อกควรจะพร้อมกันในปี 2561โดยเจ้าของช่องสัมปทานแอนะล็อกเดิม ควรให้ความร่วมมือกับรัฐกรณียุติทีวีช่อง 3 ช่อง 7 เพราะทาง กองทัพบก และ ช่อง 9 (อสมท.) เองก็ยินดียุติทีวีแอนะ ล็อกในปี 2561 นั่นหมายความว่าสัญญาณดิจิตอลทีวีต้องทั่วถึงในปี 2561 อยู่แล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะลากยาวไปจนหมดสัญญาสัมปทาน

       “อีกทั้ง อสมท. และ กองทัพบก ในฐานะผู้ได้สิทธิ์รับใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิตอลแบบไม่ต้องประมูล ก็มีพันธะสัญญาในการต้องยุติทีวีแอนะล็อก และ คืนคลื่นกลับมาให้ กสทช.จัดสรรใหม่ ดังนั้น การขยายเวลายุติคลื่นแอนะล็อก นอกจากส่งผลต่อการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรมในระบบใบอนุญาตแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อสาธารณะ” สุภิญญา กล่าว

       นอกจากนี้ ในการประชุมเตรียมออก ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง บริการชุมชนที่มีคุณภาพ พ.ศ. … ซึ่งเป็นภารกิจตามแผนแม่บทฯที่ล่าช้ามานาน ถ้าร่างฉบับนี้ผ่าน จะได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป

Contact