กสทช. เดินสายสร้างเครือข่ายผู้บริโภคปกป้องตนเอง
(วันที่ ๒๖ – ๒๗ ส.ค. ๒๕๕๙) สำนักงาน กสทช. โดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์(บส.) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ระดับภูมิภาค ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายผู้บริโภค อันประกอบด้วย กลุ่มทำงานด้านอาหาร ยาฯ กลุ่มคนพิการ กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กหรือเยาวชน กลุ่มแรงงาน กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้ร้องเรียน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มทำงานด้านการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก (ASO) กลุ่ม อสม. กลุ่มภาคประชาสังคมต่างให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวในช่วงพิธีเปิดเวทีว่า การจัดเวทีสัมมนาการส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ ระดับภูมิภาค ครั้งนี้เป็นเวทีที่ ๓ จัดในภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีความเข้มแข็ง รู้จักปกป้องสิทธิของตน และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยน สะท้อนความคิดเห็น รณรงค์ทางสังคม นอกจากนี้ได้มีการเชิญภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับทราบและเปิดประเด็นในเรื่องของสื่อผู้บริโภคเพื่อให้เกิดกลไกการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยมี กสทช.ภูมิภาค เพื่อเป็นแกนหลัก (Node) การทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค
“ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคยังประสบปัญหา การละเมิดสิทธิที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากการโฆษณาสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่เป็นจริง ไม่ครบถ้วนนำไปสู่การซื้อ-ใช้สินค้าหรือบริการที่ไม่ เหมาะสมสิ้นเปลือง เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการนำเสนอข่าวอาชญากรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิสตรี สิทธิเด็กและเยาวชนจากการนำเสนอเนื้อหาละครข่าวสารด้วยความรุนแรง หยาบคาย ลามกนอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาแฝงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะบทความเชิงโฆษณาที่ครอบงำความคิดประชาชน ซึ่งการจัดเวทีนี้มุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นกลไกทางสังคม สร้างกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงการให้ความรู้ด้านสิทธิของผู้บริโภคสื่อกับประชาชน เพื่อทำให้เกิดการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่ การติดตามเฝ้าระวัง การสะท้อนความคิดเห็น รวมไปถึง การมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายด้านการบริหารจัดการสื่อร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรหลัก รวมทั้ง เป็นกลไกด้านการสื่อสารความรู้ ที่จะช่วยให้สังคมเกิดความตื่นตัว รับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเชื่อมโยงไปกับกลไกด้านอื่นๆ ได้แก่ กลไกทางกฎหมาย และกลไกความรู้ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ / องค์กรกำกับดูแล (กสทช.) และองค์กรภาคี ที่เกี่ยวข้อง” สุภิญญา กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐ ต่อ ๕๗๔๔, ๕๗๓๒ หรือ http://bcp.nbtc.go.th