โฆษณาสารเคมีทางการเกษตรที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค

“แคปซูลนาโน ตรา A ของเค้าดีจริงคร๊าบ นวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร เร่งดอก เร่งผล รวดเร็วทันใจ เพียง 1 แคปซูล  ใช้ได้กับพืชทุกชนิด”  หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่บ่งบอกเนื้อหาสรรพคุณเกินจริงเช่นนี้ผ่านรูปแบบรายการเกษตรทั้งทางหน้าจอโทรทัศน์หรือวิทยุ โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เคยใช้ พาชมสวน หรือดูผลผลิต ทำให้ผู้ชมผู้ฟังอาจหลงเชื่อได้ง่าย

กสทช. ในฐานะองค์กรที่ดูแลจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ประกอบกิจการไม่ให้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือโฆษณาที่มีลักษณะค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความรำคาญ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังและสั่งระงับการออกอากาศ “กรณีโฆษณาสารเคมีทางการเกษตร”ที่เข้าข่ายผิดข้อกฎหมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีที่ 1. สำนักงาน กสทช.ได้ตรวจสอบพบว่า รายการหนึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ได้นำเสนอโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร “แคปซูลนาโน” ยี่ห้อหนึ่ง ในรายการได้พาชมสวนลำไยและสวนมะม่วง ซึ่งเกษตรกรได้บอกว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้แล้ว ทำให้ลำไยของเขาผลดก มีรสหวานธรรมชาติ และมีขนาดของลูกเบอร์ใหญ่ 1-4 พร้อมได้ถือผลลำไยโชว์ ทั้งยังบอกอกว่ามะม่วงก็มีผลดกได้ผลดีภายใน 1 เดือน รวมถึงบอกวิธีการใช้งานและพบตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งทำให้อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เอาเปรียบบริโภค  กสทช. จึงได้รวบรวมหลักฐานเป็นบันทึกเทปและถอดเทปการโฆษณาในรายการ ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบ

กรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่า จากรายละเอียดโฆษณาข้างต้น ผู้โฆษณาได้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ แคปซูลนาโน ซึ่งถือเป็นปุ๋ยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ จึงถือเป็นผู้โฆษณาขายปุ๋ย การที่ผู้โฆษณาได้นำเกษตรกรสวนลำไยมาเป็นแขกรับเชิญและเกษตรกรได้กล่าวถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แคปซูลนาโนว่า ทำให้ผลดก หวานธรรมชาติ และขนาดลูกเบอร์ ใหญ่1-4 นั้น ถือว่าเป็นการจัดให้มีการยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น จึงเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓(๓) แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นกระทำผิดที่อยู่ในการดูแลของกรมวิชาการเกษตร

กรณีที่ 2. สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า รายการเกษตรรายการหนึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ผู้ดำเนินรายการ ได้มีการสัมภาษณ์เกษตรกรเจ้าของสวนบวบ และก่อนเข้าสู่ช่วงสัมภาษณ์นั้น  ได้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์การเกษตร  โดยมีใจความว่า “แคปซูล แคปซูลนาโน พืชผลเติบโตเพื่อใช้นาโน(ชื่อผลิตภัณฑ์) (ชื่อผลิตภัณฑ์)เพิ่มผลผลิต เกษตรกรทั่วทิศคิดใช้(ชื่อผลิตภัณฑ์) ไม่ต้องแบกไม่ต้องสะพาย ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ สะอาดไม่มีสารพิษเจือปน”

ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อก่อนใช้อะไรในการดูแลสวนบวบ
เจ้าของสวน: ปุ๋ยเคมี ครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ใช้เคมีแล้วเป็นยังไง
เจ้าของสวน:มันอยู่ไม่ได้นาน ต้นมันโทรมเร็ว
ผู้ดำเนินรายการ:ผลออกมาสวยมั้ย
เจ้าของสวน: ไม่สวย ไม่ใช่ 38 วันตัด แต่เป็นเดือนครึ่ง ถ้าหน้าร้อนแทบจะไม่มีลูกเลย
ผู้ดำเนินรายการ:แต่วันนี้ได้ผลผลิตดีเพราะมาใช้
เจ้าของสวน: (ชื่อผลิตภัณฑ์)
ผู้ดำเนินรายการ: (ชื่อผลิตภัณฑ์) แคปซูลนาโน

ลุงใช้(ชื่อผลิตภัณฑ์)แคปซูลนาโน ตรา(ชื่อผลิตภัณฑ์)ของเพิ่นดีจริงแท้นะ นวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร ช่วยเร่งการเจริญเติบโต ปรับสภาพดิน เพิ่มความสมบูรณ์ เร่งราก เร่งแป้ง เร่งน้ำตาล ดึงช่อ แตกกอ ลงหัวได้ดี ใช้ได้กับพืชทุกชนิด

จากข้อความโฆษณาด้านบน กรมวิชาการเกษตรเห็นว่า ผู้โฆษณาได้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติ ใช้กับพืชทุกชนิด ทำให้เติบโต เพิ่มผลผลิต เร่งการเจริญเติบโต เพิ่มความสมบูรณ์ เร่งราก ผล แป้ง น้ำตาล ดึงช่อ แตกกอ ลงหัวได้ดี คุณสมบัติดังกล่าวตามที่โฆษณาไปนั้นตรงกับความหมาย คำว่า “ปุ๋ย” ตามมาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ยฯ พ.ศ.๒๕๑๘ ที่หมายความว่า สารอินทรีย์ อินทรีย์สังเคราะห์ อนินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม ที่นำไปใช้เป็นธาตุอาหารพืช หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กายภาพ และชีวภาพในดิน เพื่อบำรุงความเติบโตของพืช จึงทำให้ผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผู้โฆษณาขายปุ๋ย

และบทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์ของผู้ดำเนินรายการและเกษตรกรเจ้าของสวนนั้น ก็ถือเป็นการที่ผู้โฆษณาขายปุ๋ย ได้มีการยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา๔๓(๓) ซึ่งพระราชบัญญัติปุ๋ยฯ ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา ๗๒/๑ ว่าจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖เดือน หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงถือได้ว่า รายการดังกล่าว มีการกระทำผิดกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร คือ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ และมาตรา ๔๓(๓)

สำหรับพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔๓ ได้กำหนดไว้ดังนี้
(๑ ) ไม่แสดงสรรพคุณปุ๋ยเป็นเท็จหรือเกินความจริง
(๒) ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความเป็นจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบในปุ๋ย หรือมีแต่ไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจ
(๓) ไม่มีการลองรับหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น

จากทั้ง 2 กรณี เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาแล้วว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร สำนักงาน กสทช. จึงได้เสนอเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)ตามลำดับ

       ทั้งนี้ กสท.พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ ตามที่กรมวิชาการเกษตรวินิจฉัย เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ ข้อ ๔(๓)และข้อ๑๓(๑) ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ในการคัดเลือก จัดหา และควบคุมดูแลรายการ การประกาศหรือโฆษณาที่ให้บริการกระจายเสียงหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้บริษัทผู้ประกอบกิจการ ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในช่องรายการทันที นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งในกรณีที่บริษัทฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหนังสือ โดยมีการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นใดในทำนองเดียวกันที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ กสท.จะใช้มาตราการบังคับทางปกครองกำหนดให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่กระทำการฝ่าฝืน ตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งหากบริษัทไม่พอใจในคำสั่งสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ โดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับตั้งแต่วันได้รับหนังสือ ตามนัยมาตรา ๔๙  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒

       ทั้งนี้ ถ้าหากโฆษณาผลิตภัณฑ์สารเคมีทางการเกษตร เป็นกรณี ที่กรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วไม่เข้าข่ายเป็นปุ๋ย ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.๒๕๑๘ จะต้องส่งเรื่องให้ สคบ. พิจารณา ซึ่งการพิจารณาความผิดโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรนั้น อำนาจการพิจารณาจะเป็นของหน่วยงานอื่น เช่น กรมวิชาการเกษตร สคบ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ)ฯลฯ) ทำให้มี 2ขั้นตอน ในการพิจารณาความผิด จึงทำให้ใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นกระบวนการบังคับกฎหมายที่ต้องมีข้อเท็จจริงถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

       สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับโฆษณาทางการเกษตร นอกจากพระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ.๒๕๑๘  แล้วยังมีพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.๒๕๑๘,(ฉบับที่๒)พ.ศ.๒๕๓๕,(ฉบับที่๓)พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดตามมาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ควบคุมอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ  โดยรายชื่อเมล็ดพันธุ์ควบคุม  ตามตัวอย่างดังนี้

ลำดับ

ชื่อพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์

1

กระเจี๊ยบเขียว

Abelmoschus esculentus(L.)Moench

2

กระเทียมใบ

Allium porrum L.

3

กะหล่ำปลี

Brassica oleracea L.

4

กะหล่ำดอก

Brassica oleracea L.

5

คะน้า

Brassica oleracea L.

6

บรอคโคลี

Brassica oleracea L.

7

ข้าวเปลือก

Oryza sativa Linn

8

ข้าวโพด

Zea Mays Linn.

9

ข้าวโพดหวาน

Zea Mays L. Var.saccharata(Sturtev.)L.H.Bailey

10

ข้าวฟ่าง

Sorghum bicolor (L.)Moench

11

แคนตาลูป

Cucumis melo L.

12

แตงเทศ

Cucumis melo L.

13

เมล่อน

Cucumis melo L.

14

แตงกวา

Cucumis  sativus L.

15

แตงร้าน

Cucumis sativus L.

16

แตงโม

Citrullus lanatus(Thunb.)Matsum.&Nakai

17

ถั่วฝักยาว

Vigna unguiculata(L.)Walp.

18

ถั่วลันเตา

Pisum sativum L.

19

ถั่วเขียว

Vigana radiata(L.)R.Wilczek

20

ถั่วเขียวผิวดำ

Vigna mungo(L.)Hepper

       นอกจากนั้นยังมีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕, (ฉบับที่๒)พ.ศ.๒๕๔๔, (ฉบับที่๓) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งวัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารกำจัดไร สารกำจัดหนู สารกำจัดหอย สารป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย การโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรส่วนใหญ่จะเห็นจากรายการประเภท เพลงลูกทุ่ง ชิงแชมป์มวย หรือรายการความรู้ด้านการเกษตร ซึ่งเนื้อหาโฆษณาจะเน้นความสำคัญที่สรรพคุณ เพื่อจูงใจให้เห็นประสิทธิภาพของสารเคมี และเป็นโฆษณาเพื่อให้คนจดจำชื่อ ด้วยการเล่นคำ อ้างอิงผู้นำทางความคิด หรือเพื่อส่งเสริมการขายด้วยการชิงโชค เป็นต้น ซึ่งจะกำหนดด้วยมาตรา ๕๑ การควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค

       ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบรายการหรือโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรที่เข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะเช่นเดียวกันนี้สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเรื่องเข้ามาได้ที่ สำนักงาน กสทช. call center 1200  E-mail: [email protected]  เพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภคของตนเองให้เกิดความยุติธรรมอย่างเข้มแข็งต่อไป

Categories
Contact