สำนักงาน กสทช. รับฟังความคิดเห็นคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจดิจิทัล

       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้คลื่นความถี่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ จากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศดังกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

       ทั้งนี้ การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ เป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (12/1) และ 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ให้ผู้ใช้รายเดิม และนำคลื่นที่ว่างจัดสรรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะพิจารณาถึงความสอดคล้องกับตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ควบคู่ไปกับกลไกตลาดและแนวโน้มความต้องการใช้งานในอนาคต เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรของรัฐและเอกชนเข้าใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

       นายฐากร กล่าวว่า การจะนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรใหม่ จะต้องคำนึงถึง 3 ด้าน คือ 1. ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ 2. หากมีการเรียกคืนคลื่นก็ต้องการพิจารณาเรื่องการเยียวยาอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และมีความโปร่งใส และ3. จะต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วยความเป็นธรรม

       “การเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้รับอนุญาตที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีสำนักงาน กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ” นายฐากร กล่าว

       นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการง่ายขึ้น และเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้ใช้ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ถือเป็นประกาศที่ใช้มานานและอาจไม่สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน

       ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทางเอกสารผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

1. อีเมล์ [email protected]

2. โทรสารหมายเลข 0-2278-5316

3. นำส่งด้วยตัวเองหรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ที่สำนักงาน กสทช. (สำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม) เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 ก.ย. 2560

Contact