สำนักงาน กสทช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 21 องค์กร หนุนพลังภาคีด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางดิจิทัลได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียม และรู้เท่าทัน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางดิจิทัลได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียม และรู้ทัน” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานภาคประชาสังคม จำนวน 21 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ และสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ในการสอนเรื่องสื่อ การรู้เท่าทันสื่อ และขับเคลื่อนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางดิจิทัลได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียม และรู้เท่าทัน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อร่วมกัน และสามารถนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานในพิธี พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล หลากหลาย เท่าเทียม รู้ทัน” โดยนายไตรรัตน์
วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวรายงาน

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ของดิจิทัล ว่า “บทบาทสำคัญที่ กสทช. ดำเนินการ คือ การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้มีโครงข่ายและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เช่น โครงการทางด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งโครงการที่ฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชนทุกกลุ่มในคุณภาพที่ดี ราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการในกิจการต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็จะต้องสามารถเข้าถึงการบริการต่างๆ ได้ อย่างน้อยก็เป็นการบริการขั้นพื้นฐาน หน้าที่สำคัญอีกประการของ กสทช. คือ การทำให้ประชาชนมีทักษะในการใช้บริการในกิจการต่างๆ ที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เท่าทัน และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม ชุมชน และประเทศชาติได้ และ กสทช. มีมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือ การนำข้อมูลข่าวสารมาแปลงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับช่วงวัยต่างๆ เช่น กลุ่มนักเรียนที่สามารถหาข้อมูล การทำงาน การค้นคว้าหาความรู้ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพ สามารถเป็นช่องทางประกอบอาชีพ และการหาความรู้พัฒนาทักษะอาชีพได้ปัจจุบันดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามาก ดังนั้น การสร้างหรือการขยายโครงข่ายให้ทั่วถึง จะต้องเสริมทักษะความรู้ให้ทุกคนใช้สังคมดิจิทัลอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการเพิ่มและสร้างสมรรถนะการแข่งขันให้กับประเทศไทยในภาพรวม”


“สังคมยุคปัจจุบัน พบความจริงว่ากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aged Society) โดยกลุ่มเป้าหมายของอาชญากรจะเข้าถึงจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ และมีความรู้เท่าทันต่ำ การเติมความรู้ให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน หรือคนที่อยู่ในวัยที่เติบโตในสังคมดิจิทัล เสมือนเป็นการสร้างผู้ที่ดูแลโลกดิจิทัลให้กับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะมีความสามารถในการปรับตัวต่อโลกดิจิทัลที่จำกัดกว่าคนรุ่นใหม่ๆ”
“การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง 22 หน่วยงานในวันนี้ ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่ประกาศให้สังคมสาธารณะได้รับทราบว่าเป็นความตั้งใจที่ทำร่วมกันที่จะเติมความรู้ในการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ควบคู่ไปกับการดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มีความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และสามารถทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่เป็นช่องทางในการนำภัยคุกคามหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาในครอบครัว หรือตัวเรา ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมมีมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเสริมทักษะให้รู้จักการใช้ แยกแยะ วินิจฉัยในเบื้องต้นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ หรือภัยคุกคาม ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยกันทำในการขยายโอกาสการเข้าถึงในกิจการต่างๆ เป็นเจตนารมณ์ขั้นต้น” กสทช. ต่อพงศ์ กล่าว

 

        

ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม : กดที่นี่

Contact