อย่าหลงเชื่อ จะตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง

สถานการณ์ปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง

       ปัจจุบันมีการโฆษณาหลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โดยอวดอ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค อวดอ้างว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อรางกาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางรายการ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน บางผลิตภัณฑ์ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ทำให้ประชาชนอาจได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์

       จากการเฝ้าระวังของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตามโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปีงบประมาณ 2557 ของ สำนักงาน กสทช. พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวด เกินจริง เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค 103 ชิ้นโฆษณา แบ่งเป็น โฆษณาอาหารเสริม 54 ชิ้น โฆษณายา 35 ชิ้น และโฆษณาเครื่องสำอาง 13 ชิ้น หากผู้บริโภคหลงเชื่อ อาจจะส่งผลตั้งแต่เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียโอกาสในการรักษา และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต

รู้เท่าทัน โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวงเกินจริง

       “ยา” มีสรรพคุณใช้รักษา บรรเทา ป้องกันโรค กฎหมายกำหนดให้โฆษณายาได้เพียงบางประเภทเท่านั้น และการโฆษณายา ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ยาที่ได้รับอนุญาตโฆษณาต่อประชาชนทั่วไป หากไม่ปรากฏเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆท....../...... ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโฆษณาที่หลอกลวง

ถ้อยคำต่อไปนี้ ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณายา ถ้อยคำที่แสดงว่ารักษาโรคได้หายขาด ยอดเยี่ยม หายแน่ วิเศษยิ่ง ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ทันใจ พิเศษ ดีที่สุด เด็ดขาด หายขาด หายห่วง ฉับพลัน ทันใจ ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ เป็นหนึ่ง ที่หนึ่ง ที่สุด แน่นอน เหนือกว่า พิชิตโรคร้าย

       การโฆษณายา ไม่อาจแสดงสรรพคุณได้ว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคเกี่ยวกับสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต เสริมสมรรถภาพทางเพศ คุมกำเนิด ทำแท้ง

       การโฆษณายาที่มีการรับรองคุณภาพ โดยบุคคลอื่น เช่น บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรทางการแพทย์ สถาบันวิชาการ หรืออ้างงานวิจัย สถิติที่ไม่น่าเชื่อถือ โฆษณาที่มีการแถม หรือออกสลากรางวัล ซื้อเป็นของฝาก โฆษณาโดยไม่สุภาพ ร้องรำทำเพลง แสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นการโฆษณายาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

       “อาหาร” มีสรรพคุณ เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต การโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาต จาก อย.ก่อน หากไม่ปรากฏเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆอ....../...... ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโฆษณาที่หลอกลวง

       อาหาร มิใช่ ยา จึงไม่อาจโฆษณาว่าสามารถ รักษา บำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรคได้ ไม่อาจโฆษณาสรรพคุณทางเครื่องสำอาง เช่น ทำให้ผิดขาว ลดริ้วรอย ป้องกันผมร่วง ได้ และไม่อาจโฆษณาว่าได้รับการรับรองคุณภาพ คุณประโยชน์ โดยบุคคลอื่น บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรทางการแพทย์ หรือสถาบันวิชาการได้

ถ้อยคำต่อไปนี้ ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาอาหาร ยอด ดีเลิศ เด็ดขาด อันดับหนึ่ง ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ที่สุด สุดยอด เยี่ยม เยี่ยมยอด ยอดเยี่ยม ดีที่สุดเลิศที่สุด ชนะเลิศ เลิศเลอ ดีเด็ด สุดเหวี่ยง วิเศษ ฮีโร่ บริสุทธิ์ ล้ำเลิศ ชั้นเลิศ เลิศล้ำ เด็ดหนึ่งเดียว พิเศษ ยอดไปเลย เยี่ยมไปเลย ที่หนึ่งเลย โดดเด่น ปาฏิหาริย์

        “เครื่องสำอาง” เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก เพื่อความสะอาด สวยงาม มีผลต่อร่างกายเพียงแค่ผิวภายนอกเท่านั้น ไม่มีผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกาย การโฆษณาเครื่องสำอาง จะไม่มีเลขที่โฆษณาเนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า สามารถทำการโฆษณาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องไม่โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ

การโฆษณาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ เข้าข่ายโอ้อวด หลอกลวง เกินจริง

       ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเมลานิน ที่เป็นสาเหตุของผิวหมองคล้ำ ช่วยลดสิวฝ้า ปกป้องผิวจากผด ผื่นคัน ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กลาก เกลื้อน ลดการอักเสบของผิวหนัง กระชับผิวหน้าโดยไม่ต้องศัลยกรรม สวยเพรียว กระชับไว ผิวและหน้าท้องเรียบเนียน รูปร่างกระชับ ผิวแตกลายจางลงและเรียบเนียน ช่วยปรับสภาพทรวงอกคุณให้เต่งตึงขึ้น เพิ่มขนาดอกให้ใหญ่ขึ้น

ร้องเรียนถูกวิธี ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานได้ผล ช่วยผู้คนให้ปลอดภัย

หากพวกเรา ผู้บริโภค ได้เห็น ได้ยิน ได้ดู โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวงเกินจริงเหล่านี้ อย่านิ่งเฉย สามารถร้องเรียนมาได้ที่

อย. โทร 1556

สำนักงาน กสทช. โทร 1200 www.bcp.nbtc.go.th

เพื่อให้ตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาจนเกิดทุกข์ต่อร่างกาย และจิตใจ ดังที่ผ่านมา