การจัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. :อนาคต กสทช.ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน”
กสทช. จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. :อนาคต กสทช.ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน”
เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 26 มีนาคม 2558 เวลา 08.30-13.30น. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. :อนาคต กสทช.ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน” เพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และนโยบายที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ ณ หอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช.
โดยมี นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านคุมครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในกิจการโทรคมนาคม ร่วมกล่าวเปิดงานประชุมในครั้งนี้ ช่วงแรกมีการฉายวิดิทัศน์ นำเสนอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย กสทช. แก่ผู้เข้าประชุมได้รับชม อีกทั้งยังได้รับฟังเสวนา เรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. :อนาคต กสทช.ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านสื่อหลายภาคส่วน เช่น มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ มูลนิธิสื่อสร้างสุข โครงการนำร่องทีวีชุมชน จ.อุบลราชธานี เครือข่ายสถาบันเพื่อการปฏิรูปสื่อ คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นต้น และช่วงสุดท้ายได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับการปรับปรุงกฎหมายของ กสทช. นั้น ได้มีการร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยภายในร่างพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการดำเนินการในด้านการกำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ และการบริหารคลื่นความถี่ เพื่อให้เป็นไปต่อการสนับสนุนพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงคำนึงการบริการสาธารณะแก่ประชาชน อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่บางประการ เพื่อให้การดำเนินการของ กสทช.เป็นไปตามหลักการดังกล่าวด้วย เช่น การประสานงานด้านข้อมูลการวิเคราะห์และจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
- กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหากรณีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไม่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการ
- ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในจำนวนเท่ากัน เพื่อพิจารณาและเสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการวินิจฉัยปัญหาความไม่สอดคล้องดังกล่าวยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการย่อยใน กสทช.
- ปรับปรุงวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการประกอบกิจการทางธุรกิจ จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เฉพาะวิธีการประมูลเท่านั้น
- แก้ไขเรื่องการส่งเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแก้ไขเรื่องการส่งเงินที่ได้จากการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมที่จากเดิมกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายในการประมูลแล้วเหลือเท่าไหร่ให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นให้หักค่าใช้จ่ายจากการคัดเลือกและที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เหลือเท่าใดให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
- ปรับปรุงวัตถุประสงค์และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะให้สนับสนุนให้เกิดการใช้คลื่นความถี่อย่างทีประสิทธิภาพสูงสุด
- แก้ไขการจัดสรรรายได้ของสำนักงาน กสทช. จากเดิมที่มีการจัดสรรเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการศึกษากฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เป็นให้จัดสรรเพื่อสมทบกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มเติมหนึ่งกองทุนแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน