คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กสทช. ระดมความคิดเห็นการจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์ ฯ

       คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กสทช. ระดมความคิดเห็นการจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์

       กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น ในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ การจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ณ สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ

       0การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์จัดให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเป็นแนวคิดที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จัดทำร่างขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่สามารถแก้ไขข้อร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาจากการใช้บริการดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวี และกลุ่มผู้ประกอบกิจการโครงข่ายที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เปิดให้มีช่องทาง และกำหนดกลไกที่จะรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคที่ใช้บริการ และแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบอย่างทั่วถึง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการพิจารณาและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วัน และจะต้องรายงานให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทราบทุก 6 เดือน
       อนึ่ง คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะได้นำความคิดเห็นจากการประชุมไปใช้ประกอบในการแก้ไขร่างหลักเกณฑ์การจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อ กสท. ต่อไป ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ ประกอบด้วย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ และนายพีระ ตรีชดารัตน์ ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้รับใบอนุญาตที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรทัศน์เป็นสำคัญ แต่ก็ไม่เป็นภาระแก่ผู้รับใบอนุญาตเกินสมควร

       ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ เปิดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดให้มีกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์ ได้ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) โทรศัพท์ 02 271 3600 ต่อ 5723 ได้ในวันและเวลาทำการ

 

ที่มา: nbtc.go.th