กสทช. – อย. – สคบ. - ดีอี- สตช. จับมือลงนาม ผนึกกำลังกำกับดูแลโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ อย. – สคบ.- ดีอี- สตช. ร่วมลงนาม MOU การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางสื่อวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ หวังลดปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา เกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ประสานความร่วมมือบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย แลกเปลี่ยนข้อมูล ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ผู้บริโภค ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอโฆษณาที่มีลักษณะโอ้อวด หรือแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมเป็นส่วนรวม สื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง ถูกละเมิดสิทธิจากผู้ประกอบกิจการได้ง่าย ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาการโฆษณา มีการพัฒนาความร่วมมือ และบูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายภายในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่เนื่องจากรูปแบบการโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องทันต่อเหตุการณ์ การบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในเชิงรุก การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็น จึงเป็นที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้นในวันนี้
พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยที่ สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแล การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นใน สำนักงาน กสทช. และมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบ การกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่มีความร่วมมือจนถึงปัจจุบัน ตรวจพบผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์กระทำความผิด และดำเนินการไปแล้วกว่า 70 ราย สั่งระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 120 กรณี จึงถือได้ว่าการปฏิบัติงานร่วมกันประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง เนื่องจากโทษทางปกครองสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้นค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเห็นว่าโมเดลการทำงานดังกล่าวเป็นโมเดลที่น่าสนใจ เป็นกลไกที่แก้ปัญหาได้ เมื่อ สำนักงาน กสทช. จับมือกับ กระทรวงสาธารณสุขขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค โดยพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็สามารถจัดการปัญหาการโฆษณาได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสื่อวิทยุกระจายเสียง ตรวจพบผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกระทำความผิดสูงถึงเกือบ 400 สถานี โดยพบการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมากกว่า 800 กรณี มีการวินิจฉัยว่ามีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายแล้วกว่า 170 สถานี และเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ราว 475 กรณี สั่งระงับการโฆษณไปแล้วกว่า 100 กรณี ในสถานีวิทยุ 50 สถานี และจะเร่งดำเนินการระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์นั้น กสทช. ไม่มีอำนาจโดยตรงจึงต้องกำกับดูแลร่วมกับกระทรวง DE ที่ผ่านมา อย. ตรวจพบการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในกว่า 570 URL ซึ่ง กสทช. สามารถแจ้ง ผู้ให้บริการอินเทอร์เนต หรือ ISP ระงับ/ปิดกั้น ได้สำเร็จกว่า 240 URL หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ทั้งนี้ กระทรวง DE จะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป กสทช. จึงเสนอให้ใช้โมเดลการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยขยายผลให้ครอบคลุมไปยังสื่ออื่นๆ ด้วย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน กสทช. , อย. , สคบ. , กระทรวง DE และ สตช. โดย บก.ปคบ. ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วน ครอบคลุมทุกมิติ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากมีการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาโฆษณาจากผู้ร้องเรียนและเครือข่ายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังได้จัดให้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ อีกด้วย โดยมีการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวง DE ในการระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ในการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ในปี 2561 อย. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณามากกว่า 4,000 รายการ และตรวจจับผู้กระทำผิดมูลค่าสินค้ามากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกสื่อ จึงได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงในวันนี้
พลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจได้มีการทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยใช้ช่องทางโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา วิทยุ และทางอินเทอร์เน็ต โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณ แจ้งรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการที่เป็นเท็จเกินจริง หรือใช้เทคนิคทางการตลาดที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การจัดรายการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม แจ้งราคาเกินจริง เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้ของดีราคาแพง แต่สามารถซื้อได้ในราคาถูก และพบว่าปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น เร็วขึ้น ในช่องทางการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ใช้กลหลอกล่อทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้ง่าย สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรณีใช้แล้วไม่เห็นผล ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ซึ่ง สคบ. ได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยและเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก การทำความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ช่วยกันประชาสัมพันธ์ความรู้ และจัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง จัดทำฐานข้อมูลผลการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
ในเชิงรุก สคบ. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อทำการตรวจสอบสินค้าและการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจในสื่อต่าง ๆ ซึ่งพบว่าทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจเป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่เป็นเท็จเกินจริง 70-80 % และได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานการปิดกั้นเว็บไซต์
ที่ผิดกฎหมายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ได้มีความร่วมมือและประสานงานกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน กสทช. อย. สคบ. และ บก.ปคบ. มาตั้งแต่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ หลังจากมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ครอบคลุมฐานความผิดมากขึ้น และเพิ่มบทกำหนดโทษให้สูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2560 โดยได้ร่วมกันดำเนินการตามขั้นตอนการระงับการแพร่หลายของเว็บไซต์โฆษณาอาหาร ยา ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคหรือแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยแก่ชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเรื่องร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การนำเสนอและเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำได้ง่าย ส่งผลให้สภาพการซื้อขายเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเปลี่ยนจากการซื้อขายจากเว็บไซต์ e-Commerce มาเป็นการซื้อขายผ่าน Social Media เช่น Facebook Instagram Line ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ใช้โดยตรง ทำให้การควบคุมดูแลมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกและแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของตนได้อย่างเข้มแข็ง รวมถึงการ บูรณาการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถร่วมกันหยุดยั้งการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือ รวมถึงจะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ การสาธารณสุข หรือการศึกษา โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหา ช่วยให้ประชาชนไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการโฆษณาดังกล่าว ได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้