การประชุมถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ภาคใต้ ผ่านทางออนไลน์
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ จัดการประชุมถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ภาคใต้ผ่านทางออนไลน์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมให้ผู้แทนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ดำเนินการขยายผลความรู้ ความเข้าใจไปยังผู้บริโภค ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง ร้องเรียน และเสนอแนะนโยบาย รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคีองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เกิดความ ตื่นตัว รับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภคสื่อ โดยแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้มีการดำเนินการขยายผลการดำเนินงานใน ๔ ด้าน ประกอบด้วย ๑) ด้านการสร้างเครือข่ายรู้เท่าทัน เครือข่ายเฝ้าระวัง และเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ ๒) ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการสื่อ ส่งเสริมไปในหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างเครือข่ายสื่อน้ำดี ๓) ด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ๔) ด้านการสร้างให้เกิดความตระหนัก โดยมีผู้เข้าร่วม ประมาณ 100 คน
ทั้งนี้การสรุปผลการเฝ้าระวังการออกอากาศในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างเดือนเมษายน 2564 - พฤษภาคม 2564 โดยเฝ้าระวังสื่อวิทยุกระจายเสียง/โทรทัศน์
(1) ด้านโทรทัศน์ พบการกระทำผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย จำนวน 241 รายการ และไม่แน่ใจ จำนวน 96 รายการ โดยพบการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ด้านเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม จำนวน 32 ครั้ง ด้านการโฆษณาที่ไม่เหมาะสม จำนวน 145 ครั้ง และด้านการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภค จำนวน 25 ครั้ง (2) ด้านวิทยุ พบการกระทำผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย จำนวน 35 รายการ และไม่แน่ใจ จำนวน 20 รายการ โดยพบการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ด้านเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม จำนวน 2 ครั้ง ด้านการโฆษณาที่ไม่เหมาะสม จำนวน 31 ครั้ง และด้านการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภค จำนวน 6 ครั้ง