ตัวอย่างการบันทึกเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียง
ตัวอย่างการบันทึกเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ข้อความที่พบผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียง
"ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการ ปวดกล้ามเนื้อ แก้อาการปวดเข่า ปวดขา แก้อาการปวดตามข้อ มือชา เท้าชา ปวดหลังปวดเอว อัมพฤกษ์ อัมพาต แก้ปัญหา เกี่ยวกับเรื่องอาการหอบหืด และก็ภูมิแพ้ การปวดเมื่อย ทำให้การดำเนินชีวิตของคุณมีอุปสรรคหรือแม้แต่การทำงานก็ทำได้แบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่เต็มที่ แต่พอทานสมุนไพร แคปซูล xxxx กล่องสีเขียวแล้ว ทำให้มีกำลังวังชาอาการเจ็บปวดต่างๆเหล่านั้นเริ่มลดน้อยลงได้"
ผิดกฏหมาย อย.
เข้าข่ายโฆษณาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เลขาธิการอาจกำหนดเงื่อนไขเฉพาะในการโฆษณา และจำกัดการใช้สื่อโฆษณาก็ได้ และมาตรา 74 ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะ(2) แสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง หรือทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น
ผิดกฏหมาย กสทช.
ข้อความโฆษณามีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น ผิดตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 5(2) ข้อ 6(1) (2) (3)
รวมทั้งเข้าข่ายเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
โทษที่จะได้รับ
ในกรณีนี้ กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และหากยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 100,000 บาท