Focus Group ครั้งที่ 2 พื้นที่จังหวัดเชียงราย ฟังเสียงสะท้อน เเละสร้างคู่มือการรู้เท่าทันสื่อ ฉบับสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ
วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โครงการสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงราย ณ โรงแรมลักษวรรณรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เเกนนำจากโรงเรียนผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคม เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ภาค/เขต เเละนักวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
.
1. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ และนำไปจัดทำเป็นแนวทางในการเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการใช้สื่ออย่างรู้ตัว ตื่นตัว และรู้เท่าทันแก่ผู้สูงอายุ
2. เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภคสื่อ และสามารถป้องกันตนเองจากสื่อได้
3. เพื่อสร้างช่องทางสื่อและการเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับผู้สูงอายุในเรื่องทักษะและความสามารถในการใช้สื่ออย่างรู้ตัว ตื่นตัว และรู้เท่าทัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์เกิดประโยชน์
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเนื้อหาสื่อที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน
.
โดยผลสรุปพอสังเขปจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (Focus Group ครั้งที่ 2 พื้นที่จังหวัดเชียงราย) มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1. ผู้สูงวัยในจังหวัดเชียงราย มีพฤติกรรมเน้นการส่งข้อความ หรือรูปภาพมากกว่าการตอบกลับ รวมทั้งมีการใช้สื่ออย่างหลากหลายในสื่อออนไลน์
2. ผู้สูงวัยในจังหวัดเชียงราย มีการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ โฆษณา เเละการประชาสัมพันธ์ ซึ่งพบว่า มีพฤติกรรมบางส่วนเท่านั้นที่หลงเชื่อโฆษณาเกินจริง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ซึ่งแต่ยังไม่เข้าถึงการเข้าไปซื้อสินค้าในออนไลน์ ที่ไม่ใช่การซื้อในรูปแบบที่ถนัด
3. ความคาดหวังในการจัดทำคู่มือ ผู้สูงวัยในจังหวัดเชียงราย มีความต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ ประเด็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อ มีกรณีตัวอย่างลักษณะพฤติกรรม และวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อพบสื่อที่ไม่ปลอดภัยเเละไม่สร้างสรรค์ โดยจะต้องประกอบเกี่ยวกับข้อบังคับ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เเละมีสื่อประกอบ เช่น สปอร์ตวิทยุ วิดีโอคลิปสั้นที่ไม่เกิน 1 นาที รวมทั้งกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ควรมีการละเล่นพื้นบ้านเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้นและเกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้
4. ประเด็นการมีส่วนร่วม ผู้สูงวัยไม่ตระหนักถึงประโยชน์การร้องเรียน เนื่องจากไม่เข้าใจบทบาทของการมีส่วนร่วมที่มากพอ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการถึงการให้ตอกย้ำและสร้างความตระหนักบทบาทของการเป็นผู้บริโภคสื่อ กลุ่มผู้สูงวัย ให้เข้ามามีส่วนร่วม เเละรู้ช่องทางในการร้องเรียน
ติดตามรูปภาพกิจกรรมเพิ่มได้ >> ที่นี่