สำนักงาน กสทช. รวมพลังแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวัยเก๋า กทม. และปทุมธานี เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ เตรียมพร้อมจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อระดับจังหวัด

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้แทนเครือข่ายสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมทิพวรรณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมี ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อ วิทยุ-โทรทัศน์ เเละได้รับเกียรติจาก นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนร่วมเป็นกลไกเเละการมีส่วนร่วมกับภาครัฐอย่างมีคุณค่า และ นายพงศกร แก้วจันทร์เหนือ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 11 เข้าร่วมในการเเลกเปลี่ยนกลไกการทำงานเครือข่ายผู้บริโภคระดับพื้นที่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายการเข้าร่วมอบรมจากเครือข่ายผู้บริโภคสื่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งสิ้น 80 คน โดยได้ร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนักวิชาการและสำนักงาน กสทช. ในแต่ละช่วง ดังนี้

1. เวทีเสวนาแลกเปลี่ยน : ภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งมีการทบทวนบทบาทของการเป็นเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ การแลกเปลี่ยนในหัวข้อกฎหมายและกรณีตัวอย่าง การออกอากาศที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื้อหารายการที่ห้ามออกอากาศ การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ รวมถึงกรณีตัวอย่างการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสื่อมวลชน โดยมีนักวิชาการ และสำนักงาน กสทช. ประกอบด้วย ผศ.ดร.ประกอบเกียรติ อิ่มศิริ ผศ.ดร.ฐานะวัฒนา สุขวงศ์ ผศ.ดร.ดนุชา สลีวงศ์ ผศ.ดร.พิชิต ธิอิ่น และคุณราตรี จุลคีรี ร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน

2. การเรียนรู้แบ่งกลุ่มย่อยตามภารกิจ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการฝึกเฝ้าระวังการประกอบกิจการของสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ โดยเน้นประเด็นการออกอากาศเนื้อหารายการและโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และกลุ่มที่ 2 การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่าย มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนวิธีการสร้างความเข้มแข็งกระจายการสื่อสารให้เกิดวงกว้าง รวมทั้งการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ชุมชน การออกแบบกิจกรรม และเนื้อหาการจัดกิจกรรม

โดยหลังจากนี้ เครือข่ายผู้บริโภคสื่อทั้ง 2 จังหวัด จะเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามเฝ้าระวังการประกอบกิจการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ในพื้นที่ โดยมีสำนักงาน กสทช. เขต 11 จังหวัดสมุทรปราการ ที่รับผิดชอบพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี ร่วมให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่เครือข่ายเฝ้าระวังฯ ถือเป็นปฏิบัติการเชิงรุกด้วยการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสื่อที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่ถูกละเมิดหรือเอาเปรียบ อีกทั้งเป็นการสร้างความตระหนักและตื่นตัวในฐานะพลเมืองและผู้บริโภคสื่อมีความเข้มแข็ง รู้เท่าทันและมีส่วนร่วมกับสื่อได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

     

ติดตามภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ >> ที่นี่