ผลประโยชน์ผู้บริโภคกับการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล

       ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ได้มีสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เรียกเก็บค่าบริการ หรือฟรีทีวี จำนวน 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 , ช่อง 5 , ช่อง 7 , ช่องโมเดิร์นไนน์, ช่อง NBT และช่อง  ThaiPBS แต่เมิ่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเข้าสู่ระบบดิจิตอล เปรียบเสมือนเหมือนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศที่ได้มีการใช้งานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลไปก่อนแล้ว เช่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สิงค์โปร์ และมาเลเซีย

       การที่มีทีวีดิจิตอลยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนผู้บริโภคจะมีโอกาสในการรับชมรายการโทรทัศน์ที่มีความคมชัดมากขึ้น จำนวนช่องรายการที่หลากหลายมากขึ้นถึง 48 ช่อง และการจัดช่องรายการสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เช่น ช่องรายการสำหรับเด็ก ช่องรายการเกษตร ช่องรายการเพื่อการศึกษา ช่องรายการกีฬา ช่องรายการข่าว และช่องรายการท้องถิ่น เป็นต้น รวมถึงโอกาสในการรับบริการเสริมใหม่ๆ เช่น โทรทัศน์แบบผู้ชมมีส่วนร่วมด้วยได้ (interactive TV) และโทรทัศน์มือถือ (Mobile TV) เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเปลี่ยนไปใช้เครื่องโทรทัศน์ระบบดิจิตอล หรือต้องติดตั้งกล่องแปลงสัญญาณ set top box เพิ่มเติมเข้ากับเครื่องโทรทัศน์แบบอนาล็อกที่ใช้อยู่เดิม แต่ก็จะมีการสนับสนุนของทาง กสทช. ในการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ที่มีการแจกคูปองเป็นส่วนลดในการซื้อโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหรือกล่องแปลงสัญญาณ set top box แนวโน้มที่ราคาจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งทั้งนี้ทาง กสทช. ได้กำหนดระยะเวลาการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิตอล โดยเริ่มทดลองออกอากาศต้นเดือนเมษายน 2557 ใน 11 จังหวัดนำร่อง และออกอากาศจริงช่วงเดือนมิถุนายน 2557

       ทั้งนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เนื่องจากชาวต่างชาติจะให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพิ่มการจ้างงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อมวลชนได้อีกทาง ต่อไปเมื่อประเทศไทยได้ใช้โทรทัศน์ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบแล้ว คลื่นความถี่ที่ยุติการออกอากาศจะสามารถนำไปใช้เพื่อการบริการด้านสาธารณะภัยและการป้องกันประเทศ เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของภัยธรรมชาติ การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

-----