สิทธิการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ ในยุคระบบดิจิตอลของคนพิการ
ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวไกล มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้เรา ทั้งการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น หรือสิ่งของใช้รอบตัวที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ยังได้รวมมาถึงการเข้าถึงของคนพิการในด้านต่างๆ ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างทัดเทียมกับบุคคลทั่วไปมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาสิทธิการเข้าถึงของคนพิการได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้านการศึกษา บริการสาธารณะ การคมนาคมขนส่งที่สามารถเดินทางได้สะดวก หรือรูปแบบอาคารที่มีความเป็นยูนิเวอร์แซลดีไซด์มากขึ้น ทุกคนสามารถใช้และเข้าถึงได้ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับการเข้าถึงสื่อ ที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่เรียกได้ว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงง่าย ซึ่งมีกันแทบทุกบ้าน และไทยเราเองก็ได้เปลี่ยนเข้าสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลแล้ว การเข้าถึงและเพิ่มทางเลือกสำหรับคนพิการจึงมีมากขึ้นตามมาด้วย โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินและการมองเห็นที่ค่อนข้างจะเป็นอุปสรรคต่อการรับชมโทรทัศน์ แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี จึงได้เกิดบริการเสียงบรรยายภาพ(AD) และบริการคำบรรยายแทนเสียง(CC) ขึ้น ทำให้คนพิการทางการมองเห็นและการได้ยิน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกได้ดียิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 บริการนี้ สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งในโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ดิจิตอลทีวี) และกล่อง Set top box จึงทำให้ง่ายต่อการใช้บริการ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยตรง ได้ออกประกาศเกี่ยวกับมาตรการพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ได้ โดยกำหนดให้ช่องดิจิตอลทีวีต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จะต้องจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ (SL) เสียงบรรยายภาพ(AD) และคำบรรยายแทนเสียง (CC) ในรายการ ข่าวสาร สาระ ความบันเทิง ที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ตามสัดส่วนดังนี้
- บริการล่ามภาษามือ (Sign Language) หรือ SL ที่เรามักจะเห็นจอภาพสี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ตรงมุมล่างขวากันบ่อยๆ ในรายการข่าวสาร ช่องต่างๆ กำหนดให้มีอย่างน้อยร้อยละ 5 ของสัดส่วนรายการ ข่าวสาร สาระบันเทิง ที่ออกอากาศสู่สาธารณะ และเมื่อรวมเวลาทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน
- บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) หรือ CC คำบรรยายแทนเสียงที่สามารถเปิด-ปิด ได้ ซึ่งจะวิ่งอยู่ด้านล่างขณะรายการกำลังดำเนินอยู่ โดยจะบรรยายทั้งบทสนทนา และบริบทรอบข้าง เช่น เสียงหัวเราะ เสียงดนตรี ฯลฯ CC ได้ถูกกำหนดให้มีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 40 ของสัดส่วนรายการ ข่าวสาร สาระบันเทิง ที่ออกอากาศสู่สาธารณะ และเมื่อรวมเวลาทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่น้อยกว่า 180 นาทีต่อวัน
- บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) หรือ AD เสียงบรรยายรายละเอียดของภาพในช่วงที่ไม่ใช่บทสนทนา เช่น การแสดงออกสีหน้า บรรยากาศโดยรอบ การเคลื่อนย้ายวัตถุ ฯลฯ โดยต้องมีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 5 ของสัดส่วนรายการ ข่าวสาร สาระบันเทิง ที่ออกอากาศสู่สาธารณะ และเมื่อรวมเวลาทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน
โดย หากช่องดิจิตอลทีวีช่องใดจัดให้มีการบริการต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ในสัดส่วนที่มากเกินกว่าประกาศของ กสทช. ได้กำหนดเอาไว้ ก็มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการช่วยให้คนพิการสามารถเข้าถึงรายการต่างๆ ทางหน้าจอโทรทัศน์ได้หลากหลายมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช.ที่ได้กำหนดสัดส่วนการบริการของคนพิการไว้ หากช่องดิจิตอลทีวีช่องใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เว้นแต่มีข้อจำกัดทางเทคนิค ซึ่งเกิดจากความจุของโครงข่ายโทรทัศน์ อย่างไรก็ดี “สื่อโทรทัศน์” นับได้ว่าเป็นสื่อหลักสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีบทบาทต่อ ความคิด ทัศนคติ ค่านิยม และการรับรู้ของประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก และด้วยยุคโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในเวลานี้ มีการแข่งขันด้านเนื้อหากันสูง เพื่อช่วงชิงเรตติ้งจากคนดู ทำให้ช่องดิจิตอลทีวีต่างๆ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทั้งตัวช่องดิจิตอลทีวีเองและผู้รับสื่อด้วย นำไปสู่การยกระดับดิจิตอลทีวีที่มีคุณภาพ/สร้างสรรค์และมีคุณค่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความนิยมต่อดิจิตอลทีวีและเกิดความยั่งยืนในทางเศรษฐกิจด้วย และการที่มีประกาศ กสทช. มาตรการพื้นฐานส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฉบับนี้ขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้คนพิการได้รับรู้และเข้าถึงเนื้อหาบนสื่อโทรทัศน์ได้อย่างรอบด้าน เฉกเช่นบุคคลทั่วไปในสังคม