รู้ไว้ ไม่เสียท่า
ผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ อาจเคยเผชิญปัญหาจากการใช้บริการ กล่อง/จาน โทรทัศน์เคเบิล โทรทัศน์ดาวเทียม มีปัญหาในการรับชม รับฟังสื่อโทรทัศน์-วิทยุ หรืออยากทดลองซื้อ ทดลองใช้ยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง ที่โฆษณาชวนเชื่อว่าดีวิเศษ ซึ่งมีผลกระทบต่อเวลา ทรัพย์สิน สุขภาพ บางคนอาจะเสียชีวิตเพราะการบริโภคผลิตภัณฑ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการ เพราะจากแรงจูงใจของสื่อโฆษณาทางวิทยุ-โทรทัศน์ดังที่ตกเป็นข่าวดังอยู่ในปัจจุบัน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์เคเบิ้ล โทรทัศน์ดาวเทียม พบบ่อย และมีการร้องเรียนมายัง สำนักงาน กสทช.
- ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้ว แต่ไม่ได้รับบริการไม่ครบถ้วนตามสัญญา
- ไม่สามารถเช็คยอดการชำระค่าบริการที่ผ่านมาได้เนื่องจาก ระบบของทางบริษัทผู้ให้บริการขัดข้อง
- ถูกคิดค่าบริการเพิ่มหากยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
- ไม่สามารถรับชมรายการได้ครบทุกช่องตามที่บริษัทผู้เช่าได้โฆษณา
- ถูกระงับสัญญาณโดยไม่มีจดหมายแจ้งเหตุก่อนล่วงหน้า
- หน้าจอดำ หรือมีการให้ใส่รหัสผ่านก่อนรับชม
- สัญญาณถูกรบกวนจากคลื่นอื่น
- รับชมภาพไม่ชัด สัญญาณขาดหายเป็นบางช่วง
สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ความคุ้มครอง ครอบคลุมถึง
- การออกอากาศรายการ หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
- ออกอากาศรายการ หรือการโฆษณาที่มีลักษณะจูงใจ หลอกลวง ให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น มีการอ้างสถิติ ข้อมูล ที่ไม่เป็นจริง หรือเกินความจริง
- การกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการที่มีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
- อาศัยอำนาจทางการตลาดเพื่อบังคับให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการของตน
- กีดกันมิให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้ตามปกติ ทำให้ผู้บริโภคต้องเพิ่มภาระในการเข้าถึงบริการ
- ผู้ประกอบกิจการร่วมกันกำหนดเงื่อนไขในการเข้าถึงบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกบังคับให้ใช้บริการ หรือสร้างภาระมากเกินไปในการเข้าถึงบริการนั้น
- ระงับการให้บริการ/สัญญาณโดยไม่แจ้งผู้บริโภคโดยแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า
- โฆษณาบริการ หรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
- ออกอากาศรายการ ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกันเกิน 1 ใน 8 ของขนาดพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์ อันเป็นการรบกวนการชมรายการ
- ใช้เสียงดัง เพื่อดึงดูดความสนใจ ถือเป็นการบังคับให้รับข้อมูลข่าวสาร และก่อมลพิษทางเสียง
- เชิญชวนให้ส่งข้อความหรือเน้นย้ำเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่สมควร ผิดในข้อเท็จจริงจนทำให้ผือื่นเข้าใจผิด
- กรณีอื่นใดที่คณะกรรมการเห็นสมควรการออกอากาศหรือโฆษณาหลอกหลวง
หากกรรมการ กสทช. เห็นว่าผู้ประกอบการรายใด มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว สามารถสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ทันที หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมการจะสั่งปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท หากฝ่าฝืนสามรถปรับรายวันได้อีกวันละไม่เกิน 1แสนบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
การที่ผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ถูกเอาเปรียบจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ทักษะในการ “รู้เท่าทันสื่อวิทยุ-โทรทัศน์” การรู้จัก “สิทธิผู้บริโภค” การช่วยกันสอดส่อง และ “ร้องเรียน” นอกจากจะช่วยลดปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบแล้ว ยังเป็นการแสดงพลังผู้บริโภคให้เป็นที่ประจักษ์ว่ามิใช่จะมาเอาเปรียบกันได้ง่ายๆ
หากพบเห็นการการเอาเปรียบผู้บริโภคในสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1200 หรือ [email protected]