คนพิการกับสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์

       คนพิการกับสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ สำหรับคนพิการ แม้จะมีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และกฎหมายอื่นๆ อีกกว่า ๔๐ ฉบับที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก ข้อมูลข่าวสาร ระบบโทรคมนาคม และบริการสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมามีองค์กร / มูลนิธิด้านคนพิการรณรงค์ให้มองคนพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายของทุกนโยบาย ที่เป็นนโยบายกระแสหลัก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ ผู้วิจัยมีความเข้าใจว่า แม้คนพิการจะจัดอยู่ในกลุ่มคนพิเศษที่ควรเปิดพื้นที่ในการเข้าถึงสื่อในรูปแบบเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแยกคนพิการออกจากการรับชมรายการของคนทั่วไปทั้งหมด เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคสื่อดิจิตอล ที่นอกจากจะมีช่องที่มากขึ้น คุณภาพของภาพและเสียงมีมากขึ้น สัญญาณเข้าถึงได้มากขึ้น ยังมีบริการต่างๆ ที่มีมากขึ้นด้วย ซึ่งหลายประเทศได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอลทีวีแล้ว รวมทั้ง มีกระแสการตื่นตัวในเรื่องสิทธิของคนพิการ โดยหลายประเทศให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดให้มีบริการ Audio Description, Closed Caption, และ Sign Language เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาค ซึ่งถือว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับบริการอย่างทั่วถึง สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งคือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น มีความก้าวหน้าในการให้พัฒนาบริการและเทคโนโลยีที่จะอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่ากลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

       การทำงานของ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงอยู่ที่การสร้างมาตรการพื้นฐานและมาตรการส่งเสริม ผ่านการกำหนดกฎหมาย และการจัดทำโครงการส่งเสริมต่างๆ จึงเป็นงานสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเราเชื่อว่าสังคมที่คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีประโยชน์ในการช่วยให้คนพิการได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยใช้ข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงที่เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันคนพิการเองก็จะต้องเป็นผู้บริโภคสื่อที่เข้มแข็ง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้มากที่สุด รวมทั้ง คนในสังคมโดยทั่วไป เมื่อได้รับสื่อหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคนพิการก็จะมีความเข้าใจ เปิดใจยอมรับและสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ (Inclusive Society) ด้วยเช่นกัน