71. การเมือง เป็นเรื่องที่พูดในวิทยุ-โทรทัศน์ ได้หรือไม่
สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จำนวนหนึ่งก่อตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งมุ่งเสนอเนื้อหาสาระทั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง แต่บางแห่งก็เป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพื่อสนับสนุนขั้วทางการเมืองของตน หรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า “สื่อ” ในฐานะผู้นำเสนอข่าวสารทำถูกต้องหรือไม่ หรือมองว่าถูกต้องในแง่มุมของการให้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น จริงๆ แล้ว อาจมองได้ว่า การเกิดขึ้นของสถานีต่างๆ มีข้อดีที่ทำให้เกิดความหลายหลายในเนื้อหาของข้อมูลข่าวสาร เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น เป็นเสรีภาพในทางหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญคงไม่ใช่คำถามที่ว่าควรปิดกั้นสื่อหรือไม่ แต่เป็นประเด็นว่า กสทช. จะกำกับดูแลอย่างไร เพื่อมิให้ความหลากหลายทางความคิดนั้นกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม และทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอเนื้อหาที่มีความแตกต่างแต่อยู่พื้นฐานของความปรองดองในสังคม (Unity of Diversity) เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นเอกภาพขึ้นในสังคมบนพื้นฐานของความหลากหลายทางความคิด สอดคล้องกับรากฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตยของประเทศไทย