กสทช. เปิดแถลงผลงานการติดตาม-เฝ้าระวังโฆษณาอาหาร ยาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภคในสื่อวิทยุ-โทรทัศน์

       เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) สำนักงาน กสทช. จัดแถลงผลงานตามข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง "การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุภาพที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์" ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ครอบคลุม 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้) ร่วมดำเนินการและแถลงผลงานดังกล่าว

      ผลงานการเฝ้าระวังโดยภาพรวม ในระหว่างเดือนธันวาคม 2555 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบข้อมูลการโฆษณาที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม โดยแยกเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 61 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา 35 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ โดยประเภทอาหารที่นิยมโฆษณา คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ น้ำผัก-ผลไม้ น้ำสมุนไพรสกัด และเครื่องดื่มลดน้ำหนัก

      กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานการจัดงาน เปิดเผยว่า กสทช. เห็นความสำคัญขอการแก้ปัญหาโฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในการหาแนวทางแก้ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหลากหลายรูปแบบ โดยดำเนินการทั้งทางกฎหมาย ทางปกครอง การจับกุมปราบปราม การรณรงค์ผ่านสื่อ และในครั้งนี้เป็นการร่วมกับมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย การร้องเรียนหรือเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ในการติดตามการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเป็ฯการเอาเปรียบผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจากการรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวพบข้อมูลการกระทำที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม

       กสทช.สุภิญญาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลงานการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้กับทางคณะกรรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำไปกำหนดเป็นนโยบายร่วมกันในการกำกับดูแลโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

-------------------------------

กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.)