กสทช. เปิดเวทีเชิญผู้ประกอบการสื่อหารือ การโฆษณาตามที่กฎหมายกำหนด

       เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นประธานเปิดงานเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด” โดยมีคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายและกิจการโทรทัศน์ ผู้ประกอบการทีวี และผู้บริโภค ณ ห้องประชุมแซฟไฟร์ ชั้น 2 โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค

       กสทช. สุภิญญา กล่าวว่า ระยะเวลาการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ช่องบริการธุรกิจ สามารถโฆษณาได้ ไม่เกิน 12นาทีครึ่ง ต่อชั่วโมง และเฉลี่ยรวมทั้งวัน ไม่เกิน 10 นาที (มาตรา 23) ส่วนเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และแบบบอกรับสมาชิก โฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที ต่อชั่วโมง และเฉลี่ยรวมทั้งวัน ไม่เกิน 5 นาที (มาตรา 28) ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

       การประชุมครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการทีวี สมาคมธุรกิจโฆษณา และผู้บริโภค แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นคำนิยามของคำว่า โฆษณาและแนวทางการคำนวณระยะเวลา การโฆษณาให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การแสดงตัวสินค้าในลักษณะของประกอบฉาก การเผยแพร่สปอตประชาสัมพันธ์รายการของสถานี  สปอตประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ ว่าจะคำนวณเป็นระยะเวลาการโฆษณาหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ผลจากการประชุมดังกล่าวจะได้รวบรวม นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ กสท. พิจารณาต่อไป เมื่อมีการประมูลทีวีดิจิตอลจะทำให้ฟรีทีวีมีจำนวน 24 ช่อง เนื่องจากประกอบการรายใหม่เพิ่มมากขึ้น

       ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการช่องฟรีทีวี 6 ช่อง และสมาคมโฆษณา ได้ประชุมจัดทำคู่มือเพื่อกำกับดูแลกันเองและใช้ตรวจสอบการโฆษณา ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยจะได้มีการหารือร่วมกัน กับ กสทช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. สคบ. คาดว่าคู่มือจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณ ต้นปี 2557 ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้กับโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ ส่วนกลุ่มผู้บริโภคมีความเข้าใจการดำเนินการในปัจจุบันของฟรีทีวี ซึ่งหากมีการแสดงถึงสินค้า หรือมีโลโก้ผลิตภัณฑ์อยู่บ้าง อย่างไม่จงใจ ก็ไม่เดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด แต่ที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากประเด็นเรื่องระยะเวลาการโฆษณาแล้ว ยังมีประเด็นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่พบว่า ทีวีดาวเทียมบางช่องมีการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงเกินจริง แต่ไม่พบปัญหาในฟรีทีวี ซึ่งทุกฝ่ายต้องเร่งจัดการโดยเร็ว

 

-----

กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.)