เพชรบุรีโมเดล : ทางออกเพื่อแก้ปัญหาโฆษณาเกินจริง

       เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2557 มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้เห็นชอบต่อระยะเวลาใบอนุญาตออกไปหลังครบปีของกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือช่องรายการดาวเทียม จำนวน 177 ช่องรายการ ต่ออีก 2 ปี (ติดตามรายละเอียดช่องทาง broadcast.nbtc.go.th) ส่วนช่องรายการที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาต่อใบอนุญาต 4 ช่องรายการ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. และยังไม่ปรากฏข้อยุติ นอกจากนี้ยังมี 2 ช่องรายการ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องเนื้อหารายการจำนวน ที่ประชุมได้มีมติออกใบอนุญาตต่อ 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าหากผลการพิจารณาว่ามีความผิดตามที่ถูกร้องเรียนจะพิจารณาต่อใบอนุญาตให้เหลือ 1 ปี ส่วนช่องรายการที่ถูกลงโทษปรับทางปกครอง จำนวน 2 ช่องรายการ ได้ต่อใบอนุญาต 1 ปี

       ซึ่งข้อร้องเรียนหรือเงื่อนไขในการพิจารณาต่อใบอนุญาตที่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. ภายใน 30 วันจากนี้ คือ กรณีการโฆษณาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเงื่อนไขในมาตรการที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาการโฆษณาอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงในวิทยุและโทรทัศน์ที่ผ่านมา โดยมีสำนักงาน กสทช. และ อย. เป็นตัวหลัก แต่สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนเฝ้าฟังระวังปัญหานี้อยู่ที่เครือข่ายผู้บริโภคที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหานี้ การทดลองทำ “เพชรบุรีโมเดล” จึงเกิดขึ้น

       วันที่ 23 ม.ค. 2557 ณ โรงแรมโนโวเทล อ.ชะอำ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคประชาชน จ.เพชรบุรี ได้จัดประชุมปฏิบัติการณ์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ–โทรทัศน์ หรือ เพชรบุรีโมเดลขึ้น เพื่อหาปรึกษาหารือถึงแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาโฆษณา อาหารยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ โดยหน่วยงานต่างๆในจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานส่วนกลางให้ความสนใจเข้าร่วม อาทิ นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี พันตำรวจโท หม่อมหลวงกิตติบดี ประวิตร รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นักวิชาการด้านสื่อ สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และสหพันธ์ผู้บริโภค

       นางสาวศิริวรรณ อำนวยสินสิริ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคประชาชน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เพื่อต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสิทธิผู้บริโภค ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะตลอดจนการบริหารจัดการแผนงาน และรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น จนเมื่อปีที่แล้วศูนย์ได้เฝ้าระวังสถานีวิทยุในจังหวัดและพบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรยายเกินสรรพคุณ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำเห็นสกัด น้ำมันจมูก น้ำมันรำข้าว และเครื่องดื่มสำหรับสตรี ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ศูนย์ได้บันทึกเก็บไว้ได้ส่งให้สำนักงานกสทช. ดำเนินการทางกฎหมายแล้ว รวมทั้ง การทดลองทำเพชรบุรีโมเดลครั้งนี้ ศูนย์ฯคาดหวังว่าจะยกระดับปัญหานี้ให้เป็นยุทธศาตร์ของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้ว่าราชการร่วมแก้ปัญหาครั้งนี้ด้วย

       ด้านพันตำรวจโท หม่อมหลวงกิตติบดี ประวิตร รองผู้ว่าราชการจ.เพชรบุรี ได้ร่วมเวทีประชุมดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงความิดเห็นว่า รู้สึกยินดีที่เลือกจังหวัดเพชรบุรีเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อลูกหลานชาวจังหวัดเพชรบุรี หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทางจังหวัดยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือขับเคลื่อนในยุทธศาสตร์จังหวัด

       นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “ทาง กสทช. ยินดีที่จะสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภค เพื่อให้เกิดกลไกลความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะ กสทช. มีบทบาทในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตกิจการวิทยุและโทรทัศน์ได้ประสานความร่วมมือทางข้อมูลและคดีกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งรูปธรรมที่ชัดเจน คือเงื่อนไขการต่อใบอนุญาตทีวีดาวเทียมหลังครบ 1 ปี ซึ่งหาก “เพชรบุรีโมเดล” เกิดขึ้นได้จริง จะช่วยให้งานกำกับดูแลของกสทช.ง่ายขึ้นและผู้บริโภคสื่อก็จะเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน และจะมีการขยายผลในจังหวัดอื่นๆด้วย ผลจากการประชุมครั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจและน่าที่จะได้นำไปดำเนินงานต่อ ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะทำงานในระดับ จังหวัด อำเภอ การสร้างเครือข่ายเพื่อให้ข้อมูลทั้งเฝ้าระวัง และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้วย สนับสนุนทำพื้นที่ต้นแบบ สถานีวิทยุชุมชนต้นแบบ การจัดทำยุทธศาสตร์ “รู้เท่าทันสื่อ” ในเพชรบุรี รวมทั้งการผลิตสื่อเพื่อออกโฆษณาในสื่อน้ำดี โดยการทำความร่วมมือกับวิทยุชุมชน เคเบิ้ลในจังหวัด ถ้าหากพบการกระทำผิดจริง กสทช.ตำรวจ และอย. จะร่วมกันดำเนินการทางกฎหมาย รวมทั้งการให้ความรู้กับผู้บริโภค และสถานีวิทยุชุมชนในเพชรบุรี และเพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนให้มากขึ้น ….”

------


แหล่งที่มา
www.supinya.com