กสทช.จับมือ 3 มหาวิทยาลัยนำร่องสำรวจผลกระทบพื้นที่ยุติทีวีแอนะล็อกพร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจการรับชมดิจิตอลทีวี
วันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 22 สำนักงาน กสทช. อาคาร EXIM Bank นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ร่วมลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสร้างความเข้าใจและการศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกต่อผู้บริโภค เพื่อรองรับและคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ตามแผนการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก(Analog Switch off: ASO) กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการการเตรียมความพร้อมของประชาชนผู้บริโภคในกิจการโทรทัศน์ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากแผนการยุติแอนะล็อกขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จึงมีความยินดียิ่งที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภคสื่อมีความเข้าใจและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลทีวี โดยมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง มีการสร้างความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเข้าถึงประชาชนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นผลจาก มติ กสท เห็นชอบแผนการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ซึ่งจะเริ่มต้นในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และอำเภอไชยปราการ พื้นที่บางส่วนของอ.ฝาง และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 1 ธ.ค. 58 และในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 31 ม.ค. 59 รวมทั้งพื้นที่อื่นๆต่อไปตามลำดับ โดยได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและการยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก หลังจากนี้สำนักงาน กสทช.จะมีการประชุมร่วมกันของทีมทำงานจาก 3 สถาบันการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากโครงข่ายไทยพีบีเอส กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. เพื่อวางแผนกิจกรรมในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การเคาะประตูบ้าน สำรวจข้อมูล และ ทำความเข้าใจ ส่งเสริมการเข้าถึงทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินในพื้นที่สามจังหวัดนำร่องที่จะมีการยุติคลื่นทีวีแอนะล็อกดังกล่าว “ผลการศึกษาวิจัยที่ได้ครั้งนี้จะใช้เป็นข้อมูลนำเสนอต่อแนวทางการจัดทำแผนยุติแอนะล็อกของกสทช. และผู้ประกอบการ ตลอดจนให้สังคมได้รับทราบ เพื่อเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลในจังหวัดอื่นๆต่อไป รวมทั้งมาตรการเยียวยาที่ต้องเตรียมสำหรับครัวเรือนที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนผ่านในพื้นที่ต่างๆด้วย ขอขอบคุณทั้งสามสถาบันการศึกษาในสามจังหวัดนำร่องที่ยินดีร่วมงานกับทาง กสทช. ขอบคุณไทยพีบีเอส กับผู้ให้บริการโครงข่าย MUX ทีวีดิจิตอลทุกราย จากนี้ไปเราต้องผนึกกำลังกันมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ให้ลุล่วง โดยประชาชน ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุดแต่ได้ ประโยชน์มากมายกว่า” สุภิญญา กล่าว