กสทช. เคลื่อนงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการด้านกิจการโทรทัศน์

 

       สำนักงาน กสทช. จัดประชุมชี้แจงประกาศ กสทช. เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ที่กำหนดให้ดิจิตอลทีวีมีบริการเสียงบรรยายภาพ คำบรรยายแทนเสียง และบริการภาษามือ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุม ชั้น ๒ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ

       คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๖ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๓๕ ง เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล หรือ ดิจิตอลทีวี ระดับชาติ ต้องจัดให้มีบริการให้สอดคล้องกับรูปแบบของแต่ละรายการ โดยมีเวลาการเตรียมตัว ๒ ปี และในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยประมาณ อย่างน้อยต้องมีสัดส่วน ดังนี้

  1. บริการล่ามภาษามือ (Sign Language) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีการบรรยายด้วยภาษามือในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการมีเสียงพูด หรือเสียงประกอบเกิดขึ้น อย่างน้อยร้อยละ ๕ ของสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามประเภทการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต
  2. บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย เป็นอักษรวิ่ง หรือตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพ หรือทางเลือกอื่นที่แสดงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการ มีเสียงพูด หรือเสียงประกอบ เกิดขึ้น และผู้รับชมสามารถเปิดหรือปิดบริการดังกล่าวด้วยตนเองได้ อย่างน้อยร้อยละ ๔๐ ของสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามประเภทการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต
  3. บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย ภาพด้วยเสียงหรือจัดให้มีบริการเสียงบรรยายภาพเพิ่มเติมเป็นพิเศษในบางช่วงเวลาของรายการที่ไม่มีเสียงบรรยายตามปกติ อย่างน้อยร้อยละ ๕ ของสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามประเภทการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ดิจิตอลทีวีต้องจัดให้มีเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด

ประเภทบริการ

ปีที่ ๑

(๒๕๖๑)

ปีที่ ๒

(๒๕๖๒)

ปีที่ ๓

(๒๕๖๓)

ปีที่ ๔

(๒๕๖๔)

ปีที่ ๕

(๒๕๖๕)

บริการล่ามภาษามือ (ร้อยละ)

บริการคำบรรยายแทนเสียง (ร้อยละ)

๔๐

๔๐

๕๐

๕๐

๖๐

บริการเสียงบรรยายภาพ (ร้อยละ)

๑๐

       อย่างไรก็ดีเมื่อรวมเวลาที่จัดให้มีบริการดังกล่าวตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่น้อยกว่าหกสิบนาทีต่อวัน

       กสทช. ทำงานร่วมกับองค์กรแต่ละประเภทความพิการ และสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง

       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐ ต่อ ๕๗๔๔, ๕๗๔๘ หรือ http://bcp.nbtc.go.th