กสทช. จัดเวทีส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ภาคอีสาน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดเวทีส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ระดับภาค ณ ห้องประชาสโมสร 1 ชั้น L โรงแรมเซนทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ เครือข่ายผู้บริโภค ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตภูมิภาค กสทช.
โดยการจัดเวทีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และสามารถต่อยอดไปสู่การทำงานในพื้นที่ และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียน การติดตามเฝ้าระวัง และการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ โดยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การมีส่วนร่วมกับ กสทช. โดยมีการกำหนดจัดเวทีเป็น 4 ภูมิภาค สำหรับการจัดงานที่จังหวัดขอนแก่น( ภาคอีสาน) ครั้งนี้เป็นเวทีแรก ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ต่อด้วย ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง และปิดท้ายด้วย ภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี
ภายในงานมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. เป็นประธาน โดยกล่าวว่า กสทช.ได้เห็นความสำคัญของการออกมาพบเครือข่ายแนวร่วมที่จะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบมอนิเตอร์ รู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งอยู่ห่างไกล ไม่สามารถที่จะตรวจสอบวิทยุท้องถิ่น หรือ เคเบิ้ลท้องถิ่นได้ว่าเป็นอย่างไร การมาครั้งนี้จึงถือว่าได้แลกมาเปลี่ยนพูดคุยกับสำนักงาน กสทช.เขตและสำนักงาน กสทช.ภาค 2 ที่เป็นตัวแทนของ กสทช. และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ให้ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคตด้วย
ทั้งนี้นางสาวสุภิญญา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมพร้อมในการยุติระบบแอนะล็อกในภาคอีสานได้มีการทยอยยุติระบบแอนะล็อกของสถานีไทยพีบีเอสไปแล้วหลายพื้นที่ สำหรับจังหวัดขอนแก่น เมื่อคืนวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในพื้นที่อำเภอชุมแพไปแล้ว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับหลายพื้นที่อีก 9 อำเภอใหญ่ๆ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็มีการยุติในจังหวัดอุบลราชธานีทั้งจังหวัด และเมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้ยุติในจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย
และ สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ก็ได้นำเสนอความคืบหน้า “การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในมุมมอง กลไกลวิธีการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยการกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แบ่งเป็น 2 ด้านดังนี้
- ด้านการกำกับดูแล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยการคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับสื่อที่เหมาะสมด้วยกลไกการกำกับดูแลที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพจากการเฝ้าระวัง หรือส่งเสริมให้มีการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนเชิงรับให้ประชาชนเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียนอย่างสะดวกจากหลากหลายช่องทาง และการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นธรรมและโปล่งใส โดยสถิติเรื่องร้องเรียน ปี 2559 นี้ ในช่วงครึ่งปีแรกมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 356 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัญหาเรื่องสัญญาให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ไม่เป็นธรรม ร้องเรียนทางช่องรายการที่เป็นดิจิตอลทีวี ฯลฯ
- ด้านการส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ได้สร้างความตระหนักและตื่นตัวในฐานะพลเมืองและผู้บริโภคสื่อที่มีความเข้มแข็งรู้เท่าทันและมีส่วนร่วมกับ กสทช.และสื่อวิทยุและโทรทัศน์รวมทั้งการรวมตัวเป็นเครือข่ายเข้มแข็ง ส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงและประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
หลังจากนั้นภายในงาน ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น ต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสทช. ตลอดจนแนวทางการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่าปัญหาในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโฆษณาที่มีเนื้อหาโอ้อวดเกินจริงทั้งในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เช่น โฆษณายาสมุนไพร อาหารเสริม น้ำผลไม้ ปุ๋ยเคมี ฯลฯ พร้อมทั้งการเข้าถึงข้อมูลความรู้ของประชาชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ เช่น กฎหมาย ช่องทางการร้องเรียน ยังไม่ทั่วถึง ฯลฯ ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาได้เสนอให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายต่อแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชนทั่วไป ผู้ด้อยโอกาส นักเรียน ใน เรื่องโฆษณาเกินจริง ข้อมูลกล่องรับสัญญาณดิจิทัล และความรู้เรื่องช่องทางในการร้องเรียนที่ควรเน้นย้ำถึงช่องทางที่คนแต่ละกลุ่มสามารถเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นได้สะดวก ร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอทิศทางของเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล รวมถึงการเปลี่ยนแปลง และทิศทางของงานในอนาคตเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อ เพื่อเป็นข้อมูลทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะกระทบกลไกด้านผู้บริโภคมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ในวันสุดท้ายของงาน เพื่อให้เห็นภาพรวมการทำงานร่วมกัน 3 ภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ (สำนักงาน กสทช.ส่วนภูมิภาค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคุ้มครองครองผู้บริโภคประจำจังหวัด) เครือข่ายผู้บริโภค และภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ได้นำเสนอรูปแบบการทำงาน และผลงานของตนเอง ไว้ดังนี้
สำนักงาน กสทช. ภาค 2 : มีพื้นที่รับผิดชอบภาคอีสานในทุกจังหวัด และภาคกลาง 3 จังหวัด จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครนายก ในส่วนภารกิจที่รับผิดชอบทั้งส่วนผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ และส่วนสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่จะมีกระบวนการทำงานเชื่อมโยงกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยการเฝ้าระวังทุกสถานีวิทยุที่ออกอากาศ รับเรื่องร้องเรียน และรวบรวมเรื่องร้องเรียนส่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดตามที่ร้องเรียนหรือไม่ จากนั้นจะพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด และดำเนินการส่งเรื่องไปยังส่วนกลาง
สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น : ได้ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการในการแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุ จังหวัดขอนแก่น และการทำงานในเชิงเครือข่ายในระดับพื้นที่ว่า มีกระบวนการทำงานอย่างไร ซึ่งจังหวัดขอนแก่นไม่ได้ทำงานเฉพาะในส่วนของทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว ได้มีการขับเคลื่อนร่วมกันกับเครือข่ายทั้งจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงมหาดไทย กสทช. สมาคมผู้บริโภค เครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจ สถานีวิทยุ เครือข่ายนักวิชาการ เพื่อจัดการปัญหาโฆษณา
ประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น : จังหวัดขอนแก่นมีการคุ้มครองผู้บริโภคในรูปของศูนย์ดำรงธรรม ที่มีการจัดระบบโครงสร้างการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยโครงสร้างของหน่วยงานนั้นมีการนำ สคบ. ซึ่งในอดีตสังกัดสำนักงานจังหวัด เข้ามาอยู่ในศูนย์ดำรงธรรม มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม โดยมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆของจังหวัดเป็นอนุกรรมการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมมีการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายของหน่วยงานราชการ เมื่อมีการร้องเรียนจะมีการแจกแจงเรื่องที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ และมีการกำกับติดตาม
ตัวแทนนักวิชาการในพื้นที่ (อาจารย์อังคณา พรมรักษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) : ได้นำเสนอหลักคิดในการทำงานที่ขับเคลื่อนไปสู่การออกแบบกระบวนการ ได้แก่ สิทธิการสื่อสาร ด้วยวิธีการบอกต่อ ชักชวนลงมือทำ หนุนเสริม สิทธิผู้บริโภค ด้วยการให้หลักคิดว่าผู้บริโภคใช้สื่อ รู้เท่าทันสื่อ อย่างไร รวมถึงการผู้ผลิตสื่อ (นักวิชาชีพปัจจุบัน / อนาคต) จะสามารถทำงานหนุนเสริมได้อย่างไร จากนั้นนำสู่กระบวนการได้แก่ ชวนเด็กและเยาวชนลงมือทำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถวิเคราะห์/วิพากษ์/ประเมิน และสามารถเลือกรับสื่อได้
ตัวแทนผู้บริโภค นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น : การทำ MOU ร่วมกันของผู้ประกอบกิจการสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ แต่ก็ยังมีการทำผิดกฎหมาย มีการโฆษณาเกินจริง เนื่องจากไม่ได้ติดตามข่าวสาร และใส่ใจกับกำหนดกฎหมาย ทำให้ถูกปรับเงิน และได้ขอคำปรึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีแนวทางการทำงานคือ การจัดตั้งสถานีวิทยุพี่เลี้ยงเพื่อคอยดูแล กำกับสถานีอื่นๆ รอบข้าง นอกจากนี้ยังได้สะท้อนถึงปัญหาว่าภาคประชาชนยังไม่สามารถติดตามการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคได้ทัน ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงชื่อบ่อยเพื่อหนีความผิด.