กสทช. จับมือ มรภ.อุตรดิตถ์ ชวนภาคีไทย-ลาว ถกแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์

       วันนี้ (9 พฤศจิกายน 559) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสำนักงาน กสทช. ภาค ๓ ลำปาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยสถาบันอาเซียนศึกษา จัด “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ไทย – สปป.ลาว ก้าวแรกสู่งานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในอาเซียน” ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมน่านตรึงใจ จังหวัดน่าน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบการสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคสื่อทั้งจากประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้าร่วมกว่า ๑๕๐ คน

       รองเลขาธิการ กสทช. ผู้ช่วยศาตราจารย์ ภักดี มะนะเวศ กล่าวว่า ในยุคสื่อหลอมรวมเช่นในปัจจุบันนี้ มีสื่อใหม่เกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อวิทยุสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ซึ่งแทบไม่สามารถแยกรูปแบบการรับ-ส่งเนื้อหาออกจากกันได้ เช่น การรับชมทีวีระบบปกติผ่านดาวเทียม การรับชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการรับชมทีวีบนโทรศัพท์มือถือ หรือไอพีทีวี ส่งผลให้เราสามารถตอบโต้ เชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน อย่างในกรณีของประเทศไทย และ สปป.ลาว มีพรมแดนติดต่อกัน สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ระหว่างกันได้ ประกอบกับการมีวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การรับสื่อภาษาลาวของคนไทย หรือ การรับสื่อภาษาไทยของคนลาวไม่มีอุปสรรค และเมื่อผู้บริโภคสามารถเปิดรับโอกาสและความท้าทายผ่านสื่อที่หลากหลายได้มากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ การเกิดสื่อใหม่จึงเป็นทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงประเภทของสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ การตลาด ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย แต่สิ่งที่เข้ามากับสื่อเหล่านี้อาจมีทั้งประโยชน์และโทษ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการรู้เท่าทันในการรับและการส่งสารสื่อในยุคที่มีการหลอมรวมข้ามพรมแดนอย่างทุกวันนี้

       “การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับทวิภาคี ระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย เป็นเวทีเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีประโยชน์อย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และหากมีแนวทางที่ชัดเจน ก็น่าจะใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลในภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่จะขยายผลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนต่อไป”

       ผู้ช่วยศาตราจารย์ ภักดี มะนะเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน กสทช. ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในเชิงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รูปแบบของสื่อที่เปลี่ยนไป รวมถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ Thailand 4.0 และในระดับนานาชาติ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระดับอาเซียนด้วย โดยในยุคสื่อหลอมรวมและการสื่อสารไร้พรมแดน ภาคส่วนต่างๆ ต้องมีเครื่องมือที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยหน่วยงานภาครัฐ / หน่วยงานกำกับดูแล (กสทช.) ทำหน้าที่ออกใบอนุญาต กำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ และกำกับดูแลให้กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ และส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้บริโภค ในขณะที่องค์กรผู้บริโภคก็มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและผู้บริโภคฯ และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นตัวแทนร้องเรียน สร้างความตระหนักรู้ในสิทธิ ฯลฯ ทั้งนี้ ในยุคสื่อไร้พรมแดน การส่งเสริมให้ประชาชนได้ประโยชน์จากสื่ออย่างสูงสุดนั้น จะต้องประกอบด้วย ๑) ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ๒) ตลาดเสรีที่มีการแข่งขันสูง และ ๓) การให้บริการที่ดีโดยการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องไม่ถูกละเลย และภาคประชาชนก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นเตือนหน่วยงานรัฐเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้น การทำงานแบบมีส่วนร่วมของ ๓ ทั้ง ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยการหนุนเสริมของภาควิชาการ เป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดแนวทาง นโยบาย และการดำเนินการที่สมบูรณ์ที่สุด

       “การจัดเวทีในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิของผู้บริโภคในกิจการ กระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเวทีเสวนาซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย มาร่วมเสวนาในประเด็นต่างๆ อาทิ ภาครัฐกับแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ สื่อกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค องค์กรภาคประชาชนกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และการแลกเปลี่ยนแนวคิดเชิงพัฒนาการ เป็นต้น”

       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐ ต่อ ๕๗๔๔, ๕๗๓๒ หรือ http://bcp.nbtc.go.th