เวทีน่าน เสนอตั้งกลไกเฝ้าระวังร่วมสองชาติ นักวิชาการจี้สื่อกระแสหลักเป็นตัวคานสื่อสังคมออนไลน์

       นักวิชาการสื่อเตือน ไทยและอาเซียน กำลังเผชิญกับภาวะสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียกร้องให้สื่อกระแสหลัก หันมาหามาตรฐานจริยธรรมดั้งเดิม ควรเป็นตัวที่คานสื่อสังคมออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะรับข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง เวทีน่านเสนอทำข้อตกลงสองประเทศ จัดตั้งกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค

       ระหว่างการเสวนาในเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ การคุ้มครองผู้บริโภคไทย- สปป.ลาว ก้าวแรกสู่งานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในอาเซียน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตือนว่า ไทย สปป.ลาว และประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญและกำลังเผชิญกับภาวะสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากผลของการหลอมรวมทางเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย เฉพาะสื่อโทรทัศน์ก็มีมากมายหลายประเภท ทั้งทีวีดิจิตอล ไลน์ทีวี ยูทูปทีวี และแอพพลิเคชั่นที่ถ่ายทอดสดได้ ทำให้มีช่องทางการบริโภค และรับข่าวสารได้มากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

       นอกจากนี้ ดร.มานะ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค สปป.ลาว ที่สามารถรับสื่อจากประเทศไทย และได้รับอิทธิพลของสื่อไทยไปด้วย ประกอบกับกระแสความนิยมสื่อใหม่ ส่งผลให้ผู้ผลิตสื่อไทย หันไปนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อออนไลน์ ในขณะเดียวกันผู้บริโภคสามารถกลายเป็นผู้ผลิตสารได้ เช่น เด็กถ่ายคลิปตบตีกัน ซึ่งไม่เฉพาะคลิปจากไทย ยังมีคลิปที่มาจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเป็นจำนวนมาก เช่น คลิปจากเด็กใน สปป.ลาว จากกัมพูชา โดยที่เด็กที่เป็นผู้ผลิตสารเหล่านี้ ทำไปโดยไม่รู้เท่าทัน ถ่ายแล้วก็ส่งต่อออกไป (แชร์)

       “ผู้บริโภคขาดองค์ความรู้ในการตรวจสอบข้อมูล ความจริงไม่ได้เป็นมิติเดียวอีกต่อไปจากการสื่อสารของผู้คนจำนวนมาก โดยขึ้นอยู่กับผู้รับสารจะมองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับในมุมมองไหน” นักวิชาการท่านนี้ กล่าว พร้อมชี้ว่า พฤติกรรมการใช้สื่อใหม่ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย จากการยอมเปิดเผยตัวตน และข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เช่นเดียวกับกลุ่มคนสูงวัยที่กลายเป็นอีกกลุ่มที่อยู่กับสื่อสังคมออนไลน์เป็นเวลานาน และมักจะเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อกันภายในกลุ่ม โดยขาดการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง

       ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เสนอแนะว่า สื่อกระแสหลักควรหันมาหามาตรฐานจริยธรรมดั้งเดิมและควรเป็นตัวที่คานสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะรับข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง โดยสื่อกระแสหลักควรกลั่นกรองเนื้อหา โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูล ต้องรายงานข่าวหลังจากมีการยืนยันแล้ว และไม่ควรรายงานทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบและคัดกรอง เพื่อเป็นตัวอย่างว่า ภาพและเนื้อหาแบบไหนที่ควรเผยแพร่ออกไป และยังเรียกร้องให้สมาคมวิชาชีพสื่อหันมาทบทวนเรื่องการกลับมายึดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อ โดยคำนึงผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย

       เสนอตั้งกลไกเฝ้าระวังสองชาติ

       ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เสนอแนะว่า ควรมีการทำความตกลงระหว่างสองประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งกลไก เฝ้าระวัง ตรวจสอบ เสนอแนะต่อข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับเนื้อหาสื่อ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและพลังการตรวจสอบและร้องเรียน เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่สามารถตรวจจับเนื้อหา หรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมได้ทันท่วงที อย่างเช่น ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชัง (Hate speech) เป็นต้น

       พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้ กสทช. เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสมดุลระหว่างสื่อ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในประเทศลาว ควรจะมีการทบทวนเรื่องการผลิตเนื้อหาว่า คำนึงเรื่องความถูกต้อง ความเหมาะสม และความรับผิดชอบหรือไม่

       ซึ่งผู้แทนจากหน่วยงานของ สปป.ลาว บางท่าน ได้กล่าวสนับสนุน ข้อเสนอของ ผศ.ดร.เอื้อจิต เรื่องการทำข้อตกลงจัดตั้งกลไกเฝ้าระวัง พร้อมกับยอมรับว่า สปป.ลาว กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทยในเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางครั้ง การที่ประชาชนของทั้งสองประเทศสื่อสารและเข้าใจภาษาของกันและกัน ทำให้การรับเอาสิ่งต่างๆ ที่เผยแพร่ระหว่างกันได้เร็ว โดยขาดการกลั่นกรอง

       ขณะที่ ดร.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ภาครัฐควรมองประชาชน ทั้งในฐานะผู้บริโภคและพลเมือง เพราะหากรัฐมองประชาชน เป็นพลเมือง ก็จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องของสิทธิ์ พร้อมเสนอให้ศึกษาการกำกับดูแลของญี่ปุ่น ที่สะท้อนว่า ภาครัฐที่เข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อ ก็สามารถสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลได้

สปป. ลาว ตื่นตัวเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค

ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ท่านพงษ์สะหวัน วงวิไล จากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

       สปป. ลาว กล่าวว่า ผลจากการปรับปรุงการแข่งขันทางธุรกิจ สปป.ลาว ได้ผนวกรวมเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเอาไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บททางการค้าของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและดูแลผู้บริโภคไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ของสปป.ลาว ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มีการดำเนินการเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคมาหลายสิบปี นอกจากนี้ สปป.ลาวยังได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปกป้องผู้บริโภคอาเซียน และในปีหน้า สปป.ลาว ก็จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงจันทน์ด้วย

       ท่านสุขทวี เทพาวง จากสำนักข่าวสารประเทศลาว กล่าวถึงการรับมือสื่อโซเชียลมีเดียว่า สปป.ลาว จะนำบทเรียนจากประเทศไทยไปปฏิบัติ แต่เราก็จะต้องมีมาตรฐานของเราเอง ต้องมีการตรวจสอบ และเราก็จะใช้ประโยชน์ในด้านบวก เช่น ใช้เฟสบุ๊คเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลสำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่มีเฟสบุ้คใช้กัน

       สำหรับข้อเสนอจาก เวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ การคุ้มครองผู้บริโภคไทย- สปป.ลาว ก้าวแรกสู่งานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในอาเซียน ในครั้งนี้ คณะผู้จัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ กระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ภาค ๓ ลำปาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยสถาบันอาเซียนศึกษา ซึ่งอาจใช้เป็นต้นแบบในการขยายผล เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนต่อไปได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โทร ๐๒ ๒๗๑ ๗๖๐๐ ต่อ ๕๗๔๔, ๕๗๓๒ หรือ http://bcp.nbtc.go.th