จิบกาแฟ นั่งคุย “กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ

       วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และ American Jewish World Service – AJWS ได้จัดงาน จิบกาแฟ นั่งคุย “กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ” เนื่องด้วย ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 12 เมษายน ของทุกปี เป็นช่วงของการตรวจเลือกทหารกองประจำการหรือที่เรียกกันว่าการเกณฑ์ทหาร

       จากการขับเคลื่อน กรณีเอกสารรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองประจำการ หรือ สด.43 นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดย คุณสามารถ มีเจริญ หรือน้ำหวาน ที่นิยามตนเองว่าเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศ (Transgender) ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขถ้อยคำที่ระบุในใบ สด.43 จากคำว่า “โรคจิต วิกลจริต” ใช้ระยะเวลาขับเคลื่อนกว่า 6 ปี จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2554 ศาลปกครองมีคำพิพากษให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำ จากนั้นองค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้เสนอถ้อยคำผ่าน คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ วุฒิสภา จนกระทั่งนำมาซึ่งการใช้ถ้อยคำว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ในเอกสาร สด.43 ในปี พ.ศ. 2555 และเริ่มใช้ถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นทางการในป พ.ศ. 2556 จากนั้น มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ร่วมกับมูลนิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และภาคี ลงสังเกตุการณ์การเกณฑ์ทหารมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน พบว่า ทางกระทรวงกลาโหมมีการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดบริการการเกณฑ์ทหารที่ละเอียดอ่อนและเคารพให้เพศสภาพมากขึ้น กะเทย/สาวประเภทสองรู้สึกสบายใจมากขึ้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกทหาร แต่เรายังพบการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรศัทน์ที่บางสื่อนำเสนอข่าวกะเทย/คนข้ามเพศในช่วงการเกณฑ์ทหารข้อมูลไม่รอบด้านและส่งผลกระทบต่อแหล่งข่าวและเกิดภาพเหมารวมอันนำไปสู่อคติต่อกะเทย/คนข้ามเพศ คุณเจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

       สอดคล้องกับการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหาข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2558) ของอาจารย์รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ในช่วงการเกณฑ์ทหารจะมีการนำเสนอข่าวกะเทย/คนข้ามเพศ ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่อาจแฝงเร้นด้วยอคติทางเพศ เช่น การระบุคำนำว่า “นาย”, การให้แสดงบัตรประชาชนของกะเทย/สาวประเภทสองผ่านกล้อง, การสัมภาษณ์เรื่องการทำศัลยกรรมและค่าใช้จ่าย, การนำเสนอว่าหากเข้าไปจะสร้างความงุ่นวายในค่ายทหารหรือเป็นสีสันในกองทัพ และการพาดหัวข่าวว่า “ฮือฮา...” “หนุ่มสวยแห่เกณฑ์ทหาร” “สังคมนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน” “ถ้าสวยขนาดนี้ยกมดลูกให้เลย” เป็นต้น การนำเสนอในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนบางส่วนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิทางเพศในมิติเพศสภาพและเพศวิถี ซึ่งสื่อมวลชนควรตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิทางเพศ

       ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. ได้เล็งเห็นประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ประกอบการสื่อได้พัฒนารูปแบบและเนื้อหารายการและข่าวที่เคารพให้หลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศ จึงนำมาสู่สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริโภคสื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

       ผู้ประกอบการกิจการด้านสื่อ และสื่อมวลชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกัลยาณมิตร เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และหาทางออกในการนำเสนอข่าวสารที่เคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ทาง สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กำลังยกร่าง แนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเด็นความหลากหลายทางเพศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อในการนำเสนอข่าวต่อไป

       ในวงจิบกาแฟ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและข้อให้สื่อมวลชนมีแนวปฏิบัตติในการทำข่าว คือ

  1. การขอความยินยอมจากแหล่งข่าว
  2. การให้ข้อมูลการเผยแพร่และช่องทางการติดต่อกลับแก่แหล่งข่าว
  3. ไม่ระบุคำว่า “นาย” ใช้คำว่า “คุณ” หรือไม่ระบุคำนำหน้า
  4. นำเสนอข่าวที่รอบด้าน
  5. ไม่พาดหัวข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึง ความแปลก ความประหลาด
  6. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน หรือข้อมูลอื่นใดที่จะสร้าวงผลกระทบให้แหล่งข่าว เป็นต้น เป็นต้น

       จากการนำเสนอข้อมูล เสียงสะท้อน และประสบการณ์ในวงกาแฟดังกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่การเกณฑ์ทหาร สื่อมวลชนต่างๆ จะนำเสนอข่าวที่เคารพซึ่งกันและกัน และทำให้สังคมไทยได้เกิดการเรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศอันเป็นเสรีภาพของมนุษย์

       สามารถติดตามกิจกรรมและอัพเดทข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกะเทยกับการเกณฑ์ทหารได้ www.thaitga.com, www.facebook.com/thaitga และ https://www.facebook.com/tgmilitaryrecruit/

       มาร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกเพศกับพวกเรา มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทมธิมนุษยชน

ติดต่อสอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมที่ :
คุณเบญญา คำแสน โทร 086-809-5535 Email : [email protected]
คุณเจษฎา แต้สมบัติ โทร 086-597-4636 Email : [email protected]