สหภาพยุโรปกังวลผลกระทบ OTT เตรียมปรับกติการองรับการเปลี่ยนแปลงภายในสิ้นปีนี้ หลังกิจการ OTT มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก

       พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับนายปีเตอร์ ซีเบิร์ท (Peter Siebert) ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรพัฒนามาตรฐานวิทยุโทรทัศน์ (Digital Video Broadcasting หรือ DVB) ซึ่งปัจจุบันวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ใช้มาตรฐานของ DVB พร้อมทั้ง ดร.เจนนี่ เวย์แนนด์ (Jenny Weinand) ดร.ไมเคิล แวกเนอร์ (Michael Wagner) และดร. เฮโจ รูจเซนนารซ์ (Heijo Ruijsenaars) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแห่ง European Broadcasting Union (EBU) ซึ่งเป็นองค์กรการรวมกลุ่มแบบไม่แสวงหาผลกำไรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ในภาคพื้นทวีปยุโรป เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากติกาการกำกับดูแลการให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือ Over The Top (OTT) ซึ่งพบว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของ OTT มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อกิจการโทรทัศน์และสังคมโดยรวม ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณะ และสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน


       พันเอก ดร.นที กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า OTT มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปประชาชนมีการใช้และเข้าถึง YouTube 91% และใช้เฟซบุ๊ค 98% ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่องความเหมาะสมด้านเนื้อหา โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงและเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ทำให้ปีนี้สหภาพยุโรปจะมีการทบทวนแนวทางการกำกับดูแล Audio Visual Media Services ครอบคลุมไปยัง Video Sharing Platform ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างและเผยแพร่เนื้อหาได้เอง (User Generated Content) โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะ และการเข้าถึงเนื้อหาของประชาชน เป็นการปรับปรุงแนวทางเพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในสิ้นปี 2560 และคาดว่าผู้ให้บริการจะให้ความร่วมมือ เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดในสหภาพยุโรป

       “ผู้ทรงคุณวุฒิต่างมีความเห็นตรงกันว่า การกำกับดูแล OTT มีความจำเป็น และถึงเวลาที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องออกกฎกติกาเพื่อให้ OTT เป็นกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการหาจุดสมดุลการกำกับดูแล OTT ได้อย่างเหมาะสมกับประเทศไทย” พันเอก ดร.นที กล่าว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

โทรศัพท์ : 0-2670-8888, 0-2271-0151 ต่อ 2215