เรื่อง รู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ
การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิเพื่อความเป็นพลเมืองในยุคแห่งการสื่อสาร ประชาชนสามารถรับสื่อได้หลากหลายช่องทาง การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ประชาชนมีความสามารถในการเลือกรับและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้รู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนมีความตระหนักในสิทธิหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของพลเมือง
การส่งเสริมการรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิให้กับประชาชนนั้น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนให้ได้มีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมีจุดเริ่มจากแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ ซึ่งมียุทธศาสตร์การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร มุ่งเน้นพัฒนาความสามารถของประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ พัฒนาแนวคิดในการส่งเสริมทักษะการรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ โดยมีหลักการ “๓ เข้า” คือ เข้าถึง เข้าใจ และเข้าไปมีส่วนร่วมกับสื่อวิทยุ – โทรทัศน์
๑. เข้าถึง
การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ เริ่มต้นด้วยการมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเข้าถึงสื่อได้ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสื่อมีสิทธิในการเข้าถึง ๕ ประการ คือ
๑) สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจํากัดด้านพื้นที่ การทําให้สื่อวิทยุ–โทรทัศน์มีความครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด เกิดความทั่วถึงของสื่อที่หลากหลาย กล่าวคือ ในพื้นที่ต่างๆ ผู้บริโภคสื่อฯ ต้องสามารถเข้าถึงสื่อวิทยุ–โทรทัศน์ด้วยช่องทางใดช่องทางหนึ่งเป็นอย่างน้อย
๒) สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจํากัดทางกายภาพ สื่อวิทยุ–โทรทัศน์ ใช้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยการเห็นและการได้ยิน เช่น คนพิการด้านการเห็น (คนตาบอด คนสายตาเลือนราง) คนพิการด้านการได้ยิน หรือสื่อความหมาย (คนหูหนวก คนหูตึง) หรือคนที่มีภาวการณ์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ การมีข้อจํากัดทางกายภาพ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากสื่อวิทยุ–โทรทัศน์
๓) สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และหลากหลาย กลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคมมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายตามความสนใจและเชื่อมโยงกับตนเองได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีลักษณะประชากรเป็นอย่างไร อาศัยอยู่ภูมิลําเนาไหนก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของนโยบายเชิงโครงสร้างสื่อที่กําหนดเป็นระดับของพื้นที่ คือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อตอบสองสิทธิของประชาชนตามลักษณะภูมิศาสตร์นอกจากนี้กลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะใดๆ ก็มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อการสื่อสารเฉพาะกลุ่มหรือการสื่อสารข้อมูลข่าวสารของกลุ่มไปยังสังคมทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และการเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย
๔) สิทธิการเข้าถึงสื่อวิทยุ–โทรทัศน์พื้นฐานและไม่เป็นภาระ การส่งเสริมการเข้าถึงสื่อวิทยุ–โทรทัศน์พื้นฐานเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ผู้บริโภคสื่อฯ สามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายและด้านอื่น ๆ ซึ่งมีแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง
๕) สิทธิในการมีความรู้ ความเข้าใจในการเข้าถึงสื่อ ประชาชน ผู้บริโภคสื่อวิทยุ–โทรทัศน์ มีสิทธิที่จะมีความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงสื่อ เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อนั้นได้ ซึ่งภาครัฐจําเป็นต้องมีการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจดังกล่าว รวมไปถึงการมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ กล่าวคือ ทุกคนมีความสามารถที่จะเข้าใจวิธีการทํางานของสื่อสารมวลชนว่ามีความหมายอย่างไร บริหารจัดการอย่างไร และจะใช้สื่อให้เท่าทันอย่างไร คนที่รู้เท่าทันสื่อจะสามารถอธิบายถึงบทบาทของสื่อที่มีต่อชีวิต ของพวกเขาได้ คนที่รู้เท่าทันสื่อจะเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อหลากหลายประเภท ดังนั้น สื่อมวลชนจะต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสําคัญ โดยมุ่งนําเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยมีความเป็นอิสระและสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่สังคม
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสื่อที่รู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ จะต้องมีความเข้าใจว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่ในการให้การศึกษาและความรู้ เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูลข่าวสาร และสร้างความบันเทิง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสำคัญในการสร้างค่านิยม การกำหนดประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดสังคมสร้างสรรค์ หรือทำลาย
๒. เข้าใจ
การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ ด้วยความเข้าใจ คือ ความสามารถในการรับ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความจริงจากการตั้งคำถาม ๕ ข้อ
๑) ใครเป็นผู้ผลิตข่าวสารนี้ การวิเคราะห์ว่าใครสร้างหรือผลิตเนื้อหานี้จะทำให้เราเข้าใจในวัตถุประสงค์ของสื่อที่ต้องการนำเสนอ
๒) ข้อมูลถูกนำเสนอมาด้วยเทคนิควิธีใด ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือภาพยนต์ย่อมมีการการดึงดูดความสนใจที่แตกต่างกัน
๓) ตีความแตกต่างกันได้อย่างไร การตีความของสื่อย่อมแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบกันเพื่อให้เกิดเป็นการตีความที่กว้างขึ้น มีมิติและมุมมองที่แตกต่างกันจนสามารถเกิดความการยอมรับในความเห็นที่ต่างกันได้
๔) คุณค่า วิถีชีวิต หรือแนวคิดใดที่แฝงมากับสื่อ สามารถตอบคำถามได้ว่า เป้าหมายของสื่อที่ต้องการนำเสนอความคิดเห็นที่เกิดขึ้นสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในขณะนั้นอย่างไร
๕) ทำไมข้อมูลนี้ถึงถูกนำมาเผยแพร่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์นี้จากการที่สื่อนำเสนอ เช่น เจ้าของสื่อได้รับประโยชน์หรือไม่ อะไรที่มีอิทธิพลต่อการผลิตสื่อ ตลอดจนคนดูได้ประโยชน์ด้านใดบ้าง
การใช้คำถาม ๕ ประการนี้สามารถปรับความคิดความเข้าใจให้สอดคล้องกับคำถามที่นำไปใช้กับสื่อนั้นๆ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์เชิงและและกว้างเพื่อสามารถอ่านสื่อนั้นให้ออก
โดย ทักษะที่ต้องมีในการรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ์ คือ ๑) วิเคราะห์แยกองค์ประกอบของ ข้อความ ๒) ประเมินคุณค่า และประโยชน์ ๓) จัดกลุ่มองค์ประกอบที่เหมือน หรือแตกต่าง ๔) สรุปกรณีย่อย ไปสู่ภาพรวม ๕) สรุปภาพรวม ไปอธิบายกรณีย่อย ๖) สังเคราะห์องค์ประกอบ ออกมาเป็นโครงสร้างใหม่ และ ๗) สรุปสาระสำคัญ
ความคิดรวบยอด ที่พลเมืองที่รู้ทันสื่อพึงมีคือ
๑. รู้เท่าทันตนเอง มีสติในการบริโภคและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ค้นหาข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจที่ดีที่สุด
๒. รู้เท่าทันสื่อ เลือกรับข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่สุด วิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเปรียบเทียบข้อมูลกับความจริงในสังคม ตัดสินใจ ยอมรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ปฏิเสธข้อมูลที่บิดเบือนความเป็นจริงรู้จักใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น หรือร้องเรียน หากพิจารณาแล้วว่าสื่อนั้นส่งผลกระทบด้านลบต่อตนเองหรือสังคม
๓. รู้เท่าทันสังคม คือการรู้เท่าทัน เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เทคโนโลยี การปกครอง สิทธิหน้าที่พลเมือง ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก
ประชาชนผู้มีความสามารถในการรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ์นั้นจะมีความสามารถในการนำสื่อที่ได้รับมาพัฒนาตนเอง ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนรวมในการพัฒนาสังคม อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อมุ่งหวังเสริมสร้างความเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันและเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิเพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๓. เข้าไปมีส่วนร่วม
เน้นการมีส่วนร่วม อย่างกระตือรือร้น รู้สึกตื่นตัว ตื่นใจ โดยผู้บริโภคสื่อ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับสื่อ และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้
- การแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสื่ออย่างมีเหตุผล ด้วยความเข้าใจและเป็นมิตร เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจ มีความสัมพันธ์ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของสื่ออย่างยั่งยืน
- การเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากสื่อ การผลิตสื่อ การส่งต่อ อย่างรู้เท่าทัน รู้กฎหมาย จริยธรรม และสร้างคุณค่าต่อตนเอง สังคม และประเทศ
- การร้องเรียน การโต้กลับและต่อรองกับสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ เพื่อปกป้อง คุ้มครองตนเอง ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบ ละเมิด หรือละเลย ไม่ว่าจะเป็นการส่งความเห็น หรือข้อเสนอแนะ ตลอดจนร้องเรียน ไปที่สื่อโดยตรง หรือหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.
- การรณรงค์ การสร้างความเข้าใจร่วมกัน ผ่านกิจกรรม (On ground) และผ่านสื่อออนไลน์ (Online) เช่น การมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้บริโภคกับสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ การสร้างเวทีขับเคลื่อนออนไลน์ เป็นต้น
- การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการกำกับดูแลต่างๆ เช่น การแสดงความเห็นต่อร่างประกาศ หรือมีส่วนร่วมในเวทีที่เปิดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอต่อนโยบายต่างๆ
ดังนั้น การรู้จักสื่อ รู้จักสิทธิ เป็นการอ่านสื่อให้ออก เพื่อพัฒนาทักษะในการเข้าถึงสื่อ การวิเคราะห์สื่อ การตีความเนื้อหาของสื่อ การประเมินค่าและเข้าใจผลกระทบ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสื่อ ซึ่งทั้งสิ้นเป็นกระบวนการพัฒนาทางความคิด เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากผลกระทบในด้านลบจากสื่อ และยิ่งในสถานการณ์โลกปัจจุบันช่องทางรับสื่อมีหลากหลายช่องทางซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองที่ต้องเลือกใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดด้วย
โดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.)