Focus Group สูงวัย ทันสิทธิ ทันสื่อ ครั้งที่ 3 พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร รับฟังเครือข่ายร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มศว. ฟังเสียงสะท้อน เเละสร้างคู่มือการรู้เท่าทันสื่อ ฉบับสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โครงการสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ ครั้งที่ 3 จังหวัดมุกดาหาร ณ โรงเเรมพลอย พาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้เเทนจากชมรมผู้สูงอายุตำบลดอนตาล วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สำนักงาน พมจ.มุกดาหาร สำนักงาน กสทช. 20 เทศบาลเมืองมุกดาหาร เทศบาลตำบลคำอาฮวน เเละโรงเรียนศาสตร์ผู้สูงวัย นิคมคำสร้อย โดยมีวัตถุประสงค์กิจกรรม ประกอบด้วย

1.เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ และนำไปจัดทำเป็นแนวทางในการเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการใช้สื่ออย่างรู้ตัว ตื่นตัว และรู้เท่าทันแก่ผู้สูงอายุ
2.เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภคสื่อ และสามารถป้องกันตนเองจากสื่อได้
3.เพื่อสร้างช่องทางสื่อและการเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับผู้สูงอายุในเรื่องทักษะและความสามารถในการใช้สื่ออย่างรู้ตัว ตื่นตัว และรู้เท่าทัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์เกิดประโยชน์
4.เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเนื้อหาสื่อที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน

การประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โครงการสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ ครั้งที่ 3 จังหวัดมุกดาหาร มี ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กล่าวเปิดเเละอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “สำนักงาน กสทช. กับการขับเคลื่อนการรู้สิทธิ เเละรู้ทันสื่อของผู้สูงวัย เเละ ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล หัวหน้าโครงการ กล่าวต้อนรับ วัตถุประสงค์ เเละเป้าหมายของโครงการ ซึ่งผลสรุปพอสังเขปจากการสัมภาษณ์เชิงลึก Focus Group ครั้งที่ 3 พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. จังหวัดมุกดาหาร ผู้สูงวัยเเบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ หรือ ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ที่มีความสามารถจะอาศัยอยู่กับลูกหลาน
2. พฤติกรรมการเปิดรับสื่อหลักผู้สูงอายุ ยังมีคนรับชมอยู่ ในนอกพื้นที่เมืองจะมีการใช้วิทยุไปฟังด้วยในการใช้ชีวิต ส่วนในกลุ่มเมือง จะมีการใช้สื่อใหม่จำนวนมากขึ้น
3. ปัญหาที่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารประสบจากการรู้ไม่เท่าทันสื่อ เช่น สินค้าไม่ตรงปก โดนหลอกในช่วงโปรโมชั่นเร่งด่วน โฆษณาอาหารเสริม โดยก่อนที่ผู้สูงวัยจะตัดสินใจซื้อ มักจะสอบถามลูกหลาน หรือตรวจสอบผ่านกลุ่มไลน์ชุมชนก่อน (เฉพาะผู้สูงวัยบางคนเท่านั้น)
4. ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้สูงวัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงวัยอยู่ ในการเเยกเเยะว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริงหรือเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากยังไม่สามารถจับหลักการตรวจสอบได้
5. การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ภาค/เขต มีการดำเนินการกำกับดูเเลด้วยการสุ่มฟังวิทยุ โฆษณาผ่านช่องทางในพื้นที่ รวมทั้งประชาชน มีเรื่องร้องเรียนน้อย เนื่องจากยังไม่เข้าถึงช่องทางการร้องเรียน
6. การออกเเบบหลักสูตรสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ จะต้องแยกเเยะให้ชัดเจนว่า การกระทำไหนผิดหรือถูก รวมทั้งควรยกกรณีตัวอย่างในกรณีหากพบการกระทำความผิด ควรร้องเรียนหรือเเจ้งที่ไหน โดยพื้นที่จังหวัดมุกดาหารยังทราบถึงช่องทาง สายด่วนของสำนักงาน กสทช. ได้น้อยอยู่ รวมทั้งข้อกฎหมายที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย เเละเป็นกรณีที่ใกล้ตัวของผู้สูงวัย
7. กิจกรรมในหลักสูตรสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ จะต้องมีการสอดเเทรกความสนุกสนาน ด้านดนตรีหรือการละเล่นพื้นที่ของภาคอีสาน เพื่อให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ เเละเน้นการทำเกมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเล่นเเละเรียนรู้ โดยมีการสอดเเทรกเนื้อหาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
8. การออกแบบกิจกรรม ควรจะให้มีการทำเป็นกลุ่มมากกว่าการทำเเบบเดี่ยว เช่น การเเสดงความคิดเห็นเเบบคนเดียว อาจจะสร้างความไม่ปลอดภัยหรือความไม่สบายใจในการเข้าร่วมอบรมของผู้สูงวัย

โดยสำนักงาน กสทช. จะมีการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โครงการสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ ครั้งที่ 4 ณ จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนจะนำรวบรวม วิเคราะห์ เเละสรุปรายงานเพื่อทำการจัดทำคู่มือการรู้เท่าทันสื่อ ฉบับสูงวัย รู้สิทธิ ทันสื่อ ตามข้อเสนอเเนะของผู้เเทนหน่วยงานจากภาครัฐ เเละภาคประชาชนต่อไป

     

ดูภาพเพิ่มเติม>> ได้ที่นี่