ประเดิมภาคแรกเครือข่ายผู้บริโภคสื่อจังหวัดชัยนาทและกาญจนบุรี กับการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้แทนเครือข่ายสื่อวิทยุและโทรทัศน์ นำร่องจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อวิทยุ-โทรทัศน์

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้แทนเครือข่ายสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2566 ณ ห้องกาลพฤกษ์ โรงแรมสองพันบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. กล่าวเปิดการประชุมพร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อ วิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจากเครือข่ายผู้บริโภคสื่อพื้นที่จังหวัดชัยนาทและจังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 80 คน ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนักวิชาการและสำนักงาน กสทช. ดังนี้
1. เวทีเสวนาแลกเปลี่ยน : ภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งมีการทบทวนบทบาทของการเป็นเครือข่ายผู้บริโภคสื่อแลกเปลี่ยนในหัวข้อกฎหมายและกรณีตัวอย่าง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กฎหมายและกรณีตัวอย่าง เนื้อหารายการที่ห้ามออกอากาศ และการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ รวมถึงกรณีตัวอย่าง การกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสื่อมวลชน โดยมีนักวิชาการ และสำนักงาน กสทช. ประกอบด้วย ผศ.ดร.ประกอบเกียรติ อิ่มศิริ ผศ.ดร.ฐานะวัฒนา สุขวงศ์ ผศ.ดร.ดนุชา สลีวงศ์ ผศ.ดร.พิชิต ธิอิ่น และคุณราตรี จุลคีรี ร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน
2. การเรียนรู้แบ่งกลุ่มตามภารกิจ แบ่งออกเป็นเนื้อหา 2 หัวข้อ ประกอบด้วย หัวข้อที่ 1 การเฝ้าระวังสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการกระทำที่เอาเปรียบและเนื้อหาห้ามออกอากาศ และหัวข้อที่ 2 การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่าย มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนวิธีการสร้างความเข้มแข็งกระจายการสื่อสารให้เกิดวงกว้าง รวมทั้งการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ชุมชน การออกแบบกิจกรรม และเนื้อหาการจัดกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.เขต 23 สุพรรณบุรี มาร่วมแลกเปลี่ยน และแนะนำแนวทางการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในพื้นที่ และการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

โดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะมีการดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้แทนเครือข่ายสื่อวิทยุและโทรทัศน์ อีก 6 พื้นที่คลอบคลุม 5 ภูมิภาค เพื่อสร้างอาสาสมัครและเครือข่ายผู้บริโภคสื่อที่เข้มแข็ง และกลุ่มเครือข่ายจะมีอาวุธด้านองค์ความรู้ วิธีการ และการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถมีส่วนร่วมในการติดตาม การประกอบกิจการของสื่อ และหากพบการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนได้ถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยน สะท้อนความคิดเห็น รณรงค์ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม

     

สามารถดูรูปภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> วันที่1 และ วันที่2