สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ครั้งที่ 5 ภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดปราจีนบุรี)
สำนักงาน กสทช. โดย สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมทวาราวดี รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด นักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการแทน รองเลขาธิการ กสทช. (สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ยุคดิจิทัล" และนายภาณุวัฒน์ ทองอ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต้อนรับ
โครงการนี้เป็นการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่ออย่างเป็นระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ และทักษะในการเข้าถึง เข้าใจ และเข้าใช้งานสื่อผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ของผู้บริโภคให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสื่อที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ การเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน สามารถเฝ้าระวังสื่อที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือมีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และการโฆษณาหลอกลวงหรือเกินจริง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ดำเนินการใน 4 ภูมิภาค จำนวน 11 ครั้ง ให้แก่เครือข่ายผู้บริโภค จำนวน 770 คน จาก 77 จังหวัด โดยในครั้งที่ 5 มีผู้เข้าร่วมจากภาคกลางตอนล่าง จำนวน 70 คน จาก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก และอ่างทอง
กิจกรรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในทางมิติวัฒนธรรมให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการรู้
เท่าทันสังคมโลก และเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีความตื่นตัว เข้มแข็ง รู้จักปกป้องตนเองจากผลกระทบของสื่อ รวมถึงสามารถเข้าถึง เข้าใจ และใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีทักษะการรู้ทันสื่อ มีความฉลาดทางดิจิทัล มีทัศนคติ และค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ สามารถนำไปใช้ได้จริงในบริบทและสถานการณ์การสื่อสารในยุคใหม่ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ การเรียนรู้สื่อแบบไหน ใครรู้บ้าง? การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และพื้นฐานความรู้ด้านสิทธิ กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์
ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม : กดที่นี่