สำนักงาน กสทช. จับมือ กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแถลงข่าวการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมด้วย กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแถลงข่าวร่วมกันในหัวข้อ “การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ” ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด นักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการแทนรองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในนามของสำนักงาน กสทช. มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาแถลงถึงผลการดำเนินงานดังกล่าว ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงวัฒนธรรม
สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานรัฐได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563 – 2568) (ฉบับปรับปรุง) ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและกำกับดูแลเนื้อหา การคุ้มครองผู้บริโภค และการส่งเสริมเสรีภาพของประประชาชนในการเข้าถึงดิจิทัลและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และมีเป้าหมายส่งเสริมการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นเครือข่ายผู้บริโภค ผู้ชม ผู้ฟัง ที่เข้มแข็งอย่างเป็นระบบ
???? โดยในปี 2567 ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีการบูรณาการเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในฐานะผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ ตลอดจนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ มีความฉลาดทางดิจิทัลมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ให้สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในบริบทสถานการณ์การสื่อสารในยุคใหม่ได้อย่างปลอดภัย และเกิดประโยชน์ต่อตนเอง กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และการเป็นแกนนำถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สิทธิของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และเป็นการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคที่เข้มแข็งในยุคดิจิทัลให้แก่ประชาชนระดับแกนนำ ทั้งจากสภาวัฒนธรรม ผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ฯลฯ ผ่านกิจกรรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ที่จัดขึ้น 11 ครั้ง ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 770 คน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเครือข่ายผู้บริโภคที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันต่อไป
จากผลการดำเนินการล่าสุดนั้น กล่าวได้ว่าบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายประชาชนในระดับแกนนำที่เข้มแข็งและหลากหลาย เกิดกลไกการทำงานในพื้นที่ที่มีการนำองค์ความรู้ จากการบูรณาการของทั้ง 2 หน่วยงาน สามารถนำไปขยายผลให้แก่สมาชิกเครือข่าย ทั้งในรูปแบบการจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ การจัดทำค่ายเยาวชน การนำองค์ความรู้ไปสอดแทรกในหลักสูตรหรือรายวิชาทั้งในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมรณรงค์ การผลิตสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ การนำองค์ความรู้ไปสอดแทรกในสื่อวัฒนธรรมหรือสื่อพื้นบ้าน โดยมีการติดตาม และแลกเปลี่ยนข้อมูล
ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของสำนักงาน กสทช. และจากผลการประเมินผลโครงการพบว่า การมีส่วนร่วมของแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคทั้งจากสำนักงาน กสทช. และกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นจุดเด่นและเป็นกลไกทำงาน ที่สำคัญในพื้นที่ จึงควรต้องมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเครือข่ายที่มีอยู่เดิมให้เข้มแข็งขึ้น และพัฒนาแกนนำรุ่นใหม่ ๆ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปขยายผลให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันได้ โดยในภายภาคหน้าอาจมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวกันอย่างเข้มข้นต่อไป
นอกจากนี้ ในปี 2568 สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดนโยบายที่จะสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิ และยกระดับเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริม การพัฒนาความรู้ทักษะของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างรู้เท่าทัน (Media Information and Digital Literacy:MIDL) ให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสำรวจระดับการเข้าถึง การรับรู้และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง
นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายใต้การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี ส่งผลให้สื่อมีวิวัฒนาการก้าวข้ามจากยุคสมัยสื่อเดิม สู่สื่อสมัยใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลในการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภคสื่อ ขณะเดียวกันรูปแบบของสื่อสมัยใหม่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อมีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหาอย่างไม่จำกัดเวลาและสถานที่บนพื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ แม้ว่าบริบทของสื่อจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สื่อยังคงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม ดังนั้นการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม สามารถตระหนัก และเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล และร่วมต่อต้านกระแสด้อยคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ไหลมากับสื่อ ทั้งนี้ จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีทิศทางและเกิดประสิทธิภาพ เป็นกลไก ในการสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถเฝ้าระวัง ตรวจสอบเนื้อหาของสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม มีภารกิจในการประสานงาน สร้างความร่วมมือและส่งเสริมสนับสนุนคน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันดำเนินงาน ให้เกิดเครือข่ายและความเข้มแข็งทั้งระบบ อันเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดการรองรับการดำเนินงานระดับนโยบาย ตลอดจนสามารถกำหนดทิศทางการปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสังคมในมิติวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
อ่านเพิ่มเติมได้ : ที่นี่